Young Smart Farmer เกษตรไทยจะก้าวไกลก็คราวนี้
เคหการเกษตรฉบับนี้ ได้สัมภาษณ์เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สานต่ออาชีพการเกษตรของพ่อแม่...

เมื่อวาน (30 สิงหาคม 59) ได้รับวารสารเคหการเกษตร จาก อ.เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ บอกว่าเป็นเล่มใหม่สดๆร้อนจากแท่นพิมพ์ ซึ่งจะวางจำหน่ายตามร้านในวันที่ 1 กันยายน นี้

ผมไม่รอช้าที่จะเปิดอ่านทันที เพราะหน้าปกเป็นเรื่องที่ผมเองก็กำลังสนใจอยู่พอดี เขาขึ้นปกว่า “ไอเดียต่อยอดธุรกิจเกษตรของคนรุ่นใหม่” ก็ต้องยอมรับกันละว่าเวลานี้คนรุ่นใหม่หายใจเข้าออกเป็นเกษตรมากขึ้น จากเดิมที่เดินตามกระแสประเทศยักษ์ใหญ่ แต่เมื่อวันนี้โลกเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนสู่ธรรมชาติ “เงินทองเป็นมายาข้าวปลาเป็นของจริง” อมตวาจาของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ยังคงศักดิ์สิทธิ์ ประจวบกับรัฐบาล “ลุงตู่” เดินหน้าประกาศจะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ตามโมเดล Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรอันเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัว คนรุ่นใหม่ก็เลยเฮโลกันเข้ามา…

คำว่า  Young Smart Farmer จึงดูจะเป็นคำศัพท์สุดฮิตที่ค้นหาได้ง่ายจาก Google และแน่นอนว่า เจ้าของคำศัพท์นี้ประเทศไทยของเรายึดครองมากกว่าใคร

บ้านหมากม่วง...ตัวอย่างการพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรของคนรุ่นใหม่
บ้านหมากม่วง…ตัวอย่างการพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรของคนรุ่นใหม่

ผมวกมาที่วารสารเคหการเกษตร เขาได้สัมภาษณ์คนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนที่เข้ามาสานต่ออาชีพเกษตรจากพ่อแม่ และหนึ่งในนั้นก็คือ  นางสาววราภรณ์ มงคลแพทย์ หรือ “คุณแนน” บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาแปรรูปและความปลอดภัยอาหาร สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ในฐานะเจ้าของ “บ้านหมากม่วง” ร้านจำหน่ายผลไม้น้องใหม่ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

“แนนเห็นพ่อแม่ทำสวนมะม่วงมาตลอด ตอนที่เรียนมัธยมก็คิดอยู่ว่าจะไปสอบคณะอะไรดี แต่ด้วยความที่โตมากับสิ่งนี้ แนนเป็นลูกคนโตถ้าแนนไม่ทำแล้วใครจะทำ ประกอบกับแนนชอบการเกษตรด้วย อยากทำงานเป็นเจ้านายตัวเอง รักความอิสระ ไม่อยากทำงานบริษัท  ได้เห็นมะม่วงที่พ่อทำพอถึงฤดูกาลมะม่วงตลาดตายราคาตกต่ำ ลูกที่ผิวไม่สวยขายได้ราคาต่ำมาก ซึ่งที่จริงแล้วเนื้อข้างในก็ยังอร่อย จึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะเพิ่มมูลค่าให้มะม่วงเหล่านี้ได้ ตอนที่เรียน ม.6 ก็เลยลองหาข้อมูล จนเจอคณะที่แนนจบมา  ซึ่งตอบโจทก์กับสิ่งที่แนนต้องการมาก ตอนเรียนก็พยายามเอาความรู้ที่ได้มาประยุกต์กับธุรกิจที่แนนจะทำตลอดว่าจะนำความรู้ตรงนี้ไปทำอะไรได้บ้าง ใช้ช่วงเวลาที่เรียนเก็บเกี่ยวความรู้ คอนเน็คชั่นให้มากที่สุด แนนมีเป้าหมายว่าจบออกมาแล้วอย่ากทำเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้เห็นตัวอย่างฟาร์มโชคชัย แดรรี่โฮม เป็นโมเดล ก็เลยฝันที่จะทำให้ได้อย่างนี้บ้าง” คุณแนน เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจและความฝันที่อยากให้เป็นจริง

ปัจจุบัน “บ้านหมากม่วง” เปิดมาแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งคุณแนนเป็นคนดูแลเองทั้งหมด ทั้งแต่ออกแบบ จนตกแต่งร้าน ฯลฯ ผลผลิตที่ขายในร้านก็มาจากสวนของพ่อแม่ ซึ่งในเชิงธุรกิจยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ถือว่าลูกค้าเริ่มรู้จัก โดยเฉพาะการได้มาอยู่กับครอบครัวกับพ่อแม่ถือว่าชีวิตมีความสุขแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาต่อยอดอาชีพการเกษตรของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเดิมทีเดียวการเกษตรของเรานั้นมีแต่ผู้สูงอายุ แต่ต่อไปนี้จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อมากขึ้น…รายละเอียดทั้งหมดอยากให้หาอ่านจากเคหการเกษตร รวมทั้งเรื่องราวของคนอื่นๆ และสาระความรู้อีกหลากหลายที่พบได้จากหนังสือเล่มนี้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated