เว็บไซต์ข่าว “เกษตรก้าวไกล” เขียนอย่างไรให้ได้ 1 ล้านวิว???
ข่าวเกษตรเริ่่มเป็นที่สนใจของผู้อ่าน...ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นยอดผู้อ่าน 1 ข่าว 1ล้านวิว

วันนี้ ผมขออนุญาต “เกษตรกรข่าว” (โครงการเกษตรกรข่าว https://goo.gl/t3Fm8U) ตามที่ผมรับปากว่าจะเขียนแนะนำเปิดตัว เพื่อให้ต่อเนื่องจากข้อเขียนในตอนที่แล้ว มาเขียนเรื่องเทคนิคการเขียนข่าวเว็บไซต์ เดิมข้อเขียนนี้ ผมตั้งใจจะส่งให้เฉพาะ “เกษตรกรข่าว” ที่ได้สมัครเข้ามาแล้ว เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้รีบเขียนข่าวส่งมายัง “เกษตรก้าวไกล” แต่คิดไปคิดมาควรจะเผยแพร่สู่สาธารณะไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดผู้สื่อข่าวเกษตรในวงกว้าง และเมื่อไรที่ข่าวเกษตรมีความหลากหลายและแพร่หลาย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตร…

โครงการ เกษตรกรข่าว...รับสมัครผู้สื่อข่าวเกษตรทั่วประเทศ
โครงการ เกษตรกรข่าว…รับสมัครผู้สื่อข่าวเกษตรทั่วประเทศ
ว่าแล้วก็เข้าเรื่อง “เขียนข่าว” กันเลยครับ

ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร (4 W+1H) คือหลักการเขียนข่าวที่เรียนกันในตำราและที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งนั้นเป็นหลักที่ใช้ได้ดีในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ แต่มาวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามา “เปลี่ยนโลก” เสมือนหนึ่งเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของมวลมนุษย์ ข่าวสารทุกอย่างส่งผ่าน “โลกออนไลน์” อย่างรวดเร็ว ที่เคยอยากรู้ว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร” มันอาจจะใช่กับผู้ที่มีเวลามากๆ แต่วันนี้ทุกคนมีเวลาจำกัด “อยากรู้ อยากเห็น” อยากได้ข้อมูลบางอย่างหรืออยากอ่านเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ พอได้เรื่องที่ต้องการก็ไปต่อ…

“พฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้อ่านเมื่อเข้ามาที่หน้าเว็บไซต์ก็จะกวาดสายตาหาข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์หรือบทความหน้านั้นเพื่อให้รู้เสียก่อนว่าตรงกับความต้องการหรือไม่” นี่คือความจริงของคนไทยทุกวันนี้ (พฤติกรรมนี้ได้เคยมีงานวิจัยของต่างประเทศว่าคนส่วนใหญ่มักกวาดสายตาอ่านเป็นรูปตัว F)

ดังนั้น การเขียนเพื่อสื่อออนไลน์หรือเขียนข่าวลงเว็บไซต์ ต้องเขียนให้ หาเจอง่าย อ่านได้ง่าย และ เข้าใจได้ทันที ว่าข้อเขียนหรือบทความนั้น เกี่ยวกับเรื่องอะไร” “มีข้อมูลครบหรือไม่” “น่าเชื่อถือแค่ไหน” และ เขียนได้น่าสนใจหรือไม่” ซึ่งการเขียนจะต้องตอบโจทก์นี้ให้ได้

ตัวอย่างประเด็นเรื่องที่จะเขียน (แยกประเด็นให้ชัด)

ผมขอยกตัวอย่างการเขียนข่าวเรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอมของเกษตรกร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ถ้าเป็นรูปแบบเดิมที่เขียนเพื่อเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์หรือตามนิตยสารต่างๆ จะต้องเขียนอย่างละเอียดตั้งแต่ประวัติของเกษตรกรหรือผู้ปลูกว่าเป็นคนที่ไหน ทำอะไรมาก่อน มีแรงบันดาลใจอย่างไรจึงมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ปลูกทั้งหมดกี่ไร่ เลือกพันธุ์มะพร้าวอย่างไร ดูอย่างไรว่าเป็นพันธุ์แท้ มีขั้นตอนวิธีการปลูกอย่างไร การดูแลจัดการสวน เช่น ใส่ปุ๋ย รดน้ำ หรือป้องกันโรคแมลงอย่างไร และเมื่อได้ผลผลิตได้นำไปขายที่ไหน ผลผลิตต่อปีมากไหม ราคาเป็นอย่างไร อนาคตได้วางแผนที่จะขยายการปลูกไหม มีข้อคิดเห็นหรือคำแนะนำอะไรที่อยากจะบอกคนอื่นบ้าง

แต่ถ้าเป็นรูปแบบใหม่ที่เขียนเพื่อลงสื่อออนไลน์ จะหยิบยกมาบางประเด็นที่คิดว่าเป็นจุดเด่นของเกษตรกรรายนั้นๆ หรือเป็นประเด็นที่คนทั่วไปอยากรู้ และลงให้ลึก เช่น ….

  • 10 เคล็ดลับการจัดการสวนมะพร้าวน้ำหอมของเกษตรกรบ้านแพ้ว (ต้องการนำเสนอเรื่องเคล็ดลับการปลูกการจัดการของคนบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดมะพร้าวน้ำหอมที่มีชื่อเสียงคู่กับย่านดำเนินสะดวก)
  • 5 เคล็ดลับเลือกมะพร้าวน้ำหอมสูตรคนบ้านแพ้ว (ต้องการนำเสนอเรื่องการเลือกพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมว่ามีภูมิปัญญาอย่างไร)
  • จบแค่ป.4 ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแค่ 5 ไร่ แต่ส่งออกปีละ 10 ล้าน ทำได้อย่างไร? (ต้องการนำเสนอวิธีการบริหารจัดการซึ่งเกษตรกรจบแค่ป.4 แต่สามารถรวมกลุ่มผู้ปลูกและส่งออกได้)
  • ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอย่างไรให้ติดผลดกตลอดปี…ลุงพร บ้านแพ้ว มีคำตอบ (ต้องการนำเสนอเคล็ดลับวิธีการจัดการสวนมะพร้าวให้ติดผลดก ซึ่งโดยปกติช่วงหน้าแล้งมะพร้าวมักขาดคอ)

ทำไมการเขียนรูปแบบใหม่ที่ลงสื่อออนไลน์ต้องจับมาเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็เพราะพฤติกรรมของคนปัจจุบัน อยากรู้เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยที่วิธีการอยากรู้ของเขาจะใช้วิธีค้นหาข้อมูลจาก Google เขาจะค้นหาโดยการป้อนคำหรือเรื่องที่ต้องการ เช่น ต้องการรู้เรื่องเคล็ดลับการปลูก ต้องการรู้เรื่องการตลาด หรือต้องการรู้เรื่องการทำให้มะพร้าวติดผลดก…เขาจะไม่อยากรู้ว่าประวัติของเกษตรคนนั้นเกิดที่ไหน เรียนจบอะไรมา มีประสบการณ์อย่างไรบ้าง เขาต้องการรู้แค่เพียงว่าเกษตรกรนั้นเป็นใครแบบสั้นๆ (แต่ในการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลก็จำเป็นที่ผู้สัมภาษณ์ต้องถามประวัติเบื้องต้นไว้-เพื่อให้ง่ายต่อการเรียบเรียง-และแยกประเด็นข่าว)

รู้อย่างไรว่าประเด็นไหนที่คนสนใจ (เป็นข่าวได้)

คำว่า “ประเด็น” คือ  ความสำคัญของเรื่องที่เราหยิบยก(จับ)ขึ้นมา เพื่อนำเสนอให้เป็นข่าว หรือรวมเรียกว่า “ประเด็นข่าว” ประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง อยู่ที่การรู้จักวิธีการจับประเด็นข่าว คือการเลือกแง่มุมของข่าวที่คิดว่ามีจุดเด่นหรือเป็นจุดที่คิดว่าผู้คนสนใจในช่วงนั้นๆ มานำเสนอภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน…

ผมยกตัวอย่าง “การเลือกซื้อเสื้อผ้า” อาจจะมีหลายรูปแบบหลากสีสัน เราชอบสีไหนเราก็เลือกสีนั้น แต่การเลือกหรือจับประเด็นข่าวอาจะกินความหมายกว่าเลือกเสื้อผ้าตรงที่เราต้องคิดว่า เราเลือกที่เราชอบอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้คนอื่นที่เห็นหรือผู้อ่านชอบด้วย

พูดกันง่ายๆประเด็นที่เราจับหรือเลือกมาเป็นข่าวนั้นต้องมีคุณค่า เรียกว่า “คุณค่าของข่าว”

คุณค่าของข่าวที่คิดว่าน่าสนใจ เช่น ความทันสมัย รวดเร็วฉับไว ความใกล้ชิด ใกล้ตัว ความเด่น (เช่น คนเด่น สถานที่เด่น ฯลฯ) ความแปลกประหลาด ผิดปกติ ผิดวิสัย ผลกระทบกระเทือนต่อประชาชนจำนวนมาก ความขัดแย้ง ความมีเงื่อนงำ ปุถุชนสนใจ เพศ ความขบขัน ความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ฯลฯ

ผมขอรวมความสั้นๆว่า ข่าวที่ผู้คนสนใจนั้นจะต้อง “แปลก ใหม่ ใหญ่ จริง” (ให้จำแค่ 4ข้อนี้)

  • แปลก หมายความว่า แตกต่างจากปกติที่เคยเห็น เช่น ทำให้กล้วยออกเครือกลางต้น (แต่เดิมแปลก คนอาจจะไปขอหวย แต่ปัจจุบันมีการทำขึ้นมาได้) หรือ คนกัดหมา (ถ้าหมากัดคนจะไม่เป็นข่าว ยกเว้นคนตาย หรือกัดคนดัง)
  • ใหม่ หมายความว่า เป็นเรื่องใหม่ (อาจจะไม่เคยมีใน Google-ค้นไม่เจอ) คิดค้นขึ้นใหม่ เช่น มะม่วงพันธุ์ใหม่ สัตว์พันธุ์ใหม่ ฯลฯ (ตรงนี้อาจจะต้องช่วงชิงความไว-ใครลงข่าวก่อนกัน)
  • ใหญ่ หมายความว่า มีขนาดใหญ่ เช่น มะม่วงลูกละ 1 กิโลกรัม รวมไปถึงคนใหญ่คนโตคนดัง (ทำอะไรก็มักเป็นข่าว)
  • จริง หมายความว่า ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาต้องเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นมา
รูปแบบของข่าวที่เราต้องการ (ที่คิดว่าผู้อ่านต้องการด้วย)
  • ข่าวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหรือในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเข้าองค์ประกอบดังที่กล่าวมาแล้ว
  • บางข่าวอาจจะเคยลงมาแล้ว (เป็นข่าวมาแล้ว) แต่ก็ต้องเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และควรมีประเด็นเสริมเข้ามาบ้าง
  • การเขียนจะต้องตอบได้ว่า ใคร(เป็นใคร) ทำอะไร(ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ หรือทำส่วนไหนของภาคเกษตร) ที่ไหน(บ้าน/ฟาร์มอยู่ที่ไหน) เมื่อไร(วันเวลาที่เกิดข่าวนั้น) อย่างไร(ทำอย่างไร-มีขั้นตอนการทำอย่างไร-ตรงส่วนนี้คือหัวใจของข่าว จะต้องบอกเล่าหรือเขียนให้ละเอียดพอสมควร-จะเป็นประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาพาดหัวข่าว)
  • ความยาวไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับประเด็นข่าว (แต่ก็ไม่ควรจะยาวจนเกินไป)
  • ภาพประกอบ 2-5ภาพ เลือกที่คมชัด สื่อได้ว่าเป็นเรื่องอะไร ข่าวอะไร (ภาพควรบอกเรื่องราวได้)
  • นอกจากนี้ (ถ้าเป็นไปได้)ควรมีคลิปวิดีโอสั้นๆที่เป็นหัวใจของข่าวนั้นๆ เพราะมีการสรุปออกมาจากนักการตลาดที่อยู่ในวงการสื่อว่า เวลานี้คนชอบดูภาพเคลื่อนไหว มากกว่าการอ่านเป็นหลายเท่าตัว
ตัวอย่างข่าวยอดนิยมจาก “เกษตรก้าวไกล” (อันดับ 1-5)
  • อันดับ 1/  เลี้ยงเป็ดไข่ 500 ตัว “มีรายได้วันละ 1,000 กว่าอยู่ได้สบายๆครับ” (https://goo.gl/N0vBCI)
  • อันดับ 2/ คนโคราชเจ๋ง! ปลูกกล้วยน้ำว้า 40 ไร่ ไม่พอขาย…“ไม่เชื่อก็ให้มาดูงานได้” (https://goo.gl/qVjZEh)
  • อันดับ 3/ ภูมิปัญญาเลือกมะพร้าวน้ำหอมส่งออกสเปน…จากไทยลูกละ 30 เป็น 200 บาท!! (https://goo.gl/cTlb9S)
  • อันดับ 4/ “ปลูกอะไรดี ให้มีรายได้ทั้งปี”…นิรันดร์ชัย เกษบึงกาฬ เกษตรกรหัวใจแกร่ง มีคำตอบ (https://goo.gl/wk2c5V)
  • อันดับ 5/ ออกแบบ “เล้าเป็ด” ให้อยู่สบาย ออกไข่เยอะๆ…ทุน 20,000 ทำได้ (https://goo.gl/KwygzN)

สำหรับรูปแบบวิธีการเขียน ให้ศึกษาได้จากเว็บไซต์ตามหัวข้อข่าวข้างต้น (คลิกตามลิงค์ครับ)

การเขียนที่ดีจะต้องใช้ภาษาที่ง่าย (หลีกเลี่ยงภาษาวิชาการ) เหมือนเรากำลังพูด หรือ อธิบายสิ่งต่างๆ ให้ผู้อ่านได้ฟัง จะทำให้ไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการอ่าน และทำให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย

สรุปเว็บไซต์ข่าว “เกษตรก้าวไกล” เขียนอย่างไรให้ได้ 1 ล้านวิว??? หรือนัยหนึ่งผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า “ข่าวเกษตรที่เขียนได้ดี(ตรงประเด็น)ก็มีสิทธิ์ที่จะมีคนเข้ามาอ่านถึง 1 ล้านวิว” (เกษตรกรประเทศไทยมีทั้ง 20 ล้านคน ยิ่งรัฐบาล “ลุงตู่” มีนโยบายให้อินเตอร์เน็ตครอบคลุม 79,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ยิ่งมีความเป็นไปได้แน่นอนครับ) ซึ่งเรื่องการเขียนข่าวยังไม่จบแค่นี้ ยังจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการเขียนให้ หาง่าย….คนหาเรื่องเราเจอ” หรือ search engine …ครั้งต่อๆไปจะมาว่ากันใหม่ครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated