ภูมิปัญญาเลือกมะพร้าวน้ำหอมส่งออกสเปน...จากไทยลูกละ 30 เป็น 200 บาท
ซ้าย/คุณประยูร วิสุทธิไพศาล กับมะพร้าวอ่อนที่มีเนื้อพอเหมาะ...ขวา/ขั้นตอนการอาบน้ำให้มะพร้าว และอ่างที่ 3 (ด้านหน้าสุด) จะเป็นการคัดเลือกว่าลูกไหนเหมาะสมที่จะได้ไปต่อ...ประเทศสเปนบ้าง

ลุล่วงเข้าเดือนเมษายนปี 2560 ราคามะพร้าวน้ำหอมหล่นตกลงดังตุ๊บ! เหลือลูกละ 13-14 บาท ตามปกติของปีที่แล้วราคาในช่วงเดือนเดียวกันนี้รับซื้อลูกละ 20 กว่าบาท และตั้งแต่ต้นปีมานี้ ราคาก็ทำท่าดีมาตลอด คือ เฉลี่ยตกลูกละ 20 กว่าบาท และพุ่งขึ้นสูงสุดลูกละ 30บาทต้นๆ จนใครต่อใครบอกว่า “ปีนี้ได้เห็นราคาสูงสุดของปีที่แล้วตั้งแต่ต้นปี” ราคาที่ร่วงลงนี้เป็นเพราะจีนหยุดสั่งออร์เดอร์…ปัญหาเกิดจาก “ล้งจีน” ที่เคยปั่นราคาสูงจน “หัวปั่น” สุดท้ายสู้ไม่ไหว จึงปล่อยให้ราคาร่วงตกลงมาเฉยๆ

คุณประยูร กำลังตรวจตรางานประจำวัน
คุณประยูร กำลังตรวจตรางานประจำวัน

แต่ไม่มีปัญหาสำหรับคนที่เตรียมการดีและบังเอิญไม่ได้เน้นส่งออกมะพร้าวน้ำหอมกับจีน นั่นก็คือกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักและผลไม้ปลอดภัยสารพิษอำเภอดำเนินสะดวก ที่มีคุณประยูร วิสุทธิไพศาล เป็นประธาน (เกษตรกรแห่งชาติดีเด่นประจำปี 2554 สาขาอาชีพพืชสวนแห่งราชบุรี) ได้มุ่งเน้นส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้กับประเทศในกลุ่มยุโรปเป็นด้านหลัก ซึ่งในวันที่ไปได้ไปเยือนกลุ่มแห่งนี้ก็พบว่ากำลังจัดเตรียมมะพร้าวน้ำหอมส่งออกไปยังประเทศสเปน

“เราต้องเลือกมะพร้าวอ่อนที่ค่อนไปทางแก่…เนื้อหนาเนื้อเต็มกว่าปกติ เพราะว่าต้องใช้เวลาขนส่ง 5 สัปดาห์กว่าจะส่งถึงมือลูกค้า จึงต้องเลือกมะพร้าวที่สามารถมีอายุเก็บไว้ได้นานกว่า” (มะพร้าวที่แก่กว่าจะเก็บได้นานกว่า) คุณประยูร บอกกับเรา พลางหยิบมะพร้าวขึ้นมา 1ลูก ส่งให้ลูกน้องไปทำการเปิดเปลือกเพื่อดูเนื้อข้างใน

“เนื้อมะพร้าวสีขาวจะต้องเต็มไปถึงหัว ถ้าเป็นมะพร้าวอ่อนปกติที่นิยมรับประทานทั่วไป เราเรียกว่าเนื้อ 1ชั้นครึ่ง แต่ถ้าเป็นมะพร้าวที่ส่งออกไปยังสเปนเราจะต้องเลือกที่เนื้อหน้า 2-2ชั้นครึ่ง”

“ถ้ามะพร้าวที่อ่อนเกินไปเนื้อจะบางสีใสๆ เราเรียกมะพร้าวเนื้อ 1 ชั้น น้ำมะพร้าวจะออกเปรี้ยวและซ่า ไม่เป็นที่นิยม แต่ถ้ามะพร้าวอ่อนเนื้อ 1ชั้นครึ่ง เนื้อมะพร้าวจะอ่อนนิ่ม ด้านในขาวด้านนอกใสเป็นวุ้น น้ำมะพร้าวหวานหอมกำลังดี…เช่นเดียวกับมะพร้าวเนื้อ 2-2ชั้นครึ่ง น้ำหอมหวาน แต่เนื้อมะพร้าวจะหนาและแข็งไปสักนิด”

กำลังอธิบายภูมิปัญญาในการเลือกมะพร้าวน้ำหอมที่เหมาะกับการส่งออก
กำลังอธิบายภูมิปัญญาในการเลือกมะพร้าวน้ำหอมที่เหมาะกับการส่งออก

เหมือนรู้ว่าเราจะถามต่อ (อาจจะเห็นใครบางคนสีหน้างงๆ) คุณประยูร จึงพูดขึ้นว่า “เราจะดูอย่างไรว่ามะพร้าวอ่อนลูกไหนเนื้อกี่ชั้น”

ว่าแล้วคุณประยูรก็ขยับเท้าเข้ามาอีก 2 ก้าว มายืนอยู่ที่ตรงอ่างยักษ์ที่เหมือนว่ากำลังอาบน้ำให้มะพร้าว พออาบผ่านอ่างที่ 1 ก็มาอาบอ่างที่ 2 และอ่างสุดท้าย อ่างที่ 3

“อ่างที่ 3 นี้ เราจะให้คนที่มีความชำนาญเป็นคนคัดว่ามะพร้าวอ่อนลูกไหนควรส่งไปขายต่อที่สเปน…” คุณประยูร พูดพลาง พนักงานผู้หญิงที่นั่งคัดเลือกส่งยิ้มมาให้ เหมือนยอมรับในทีว่าทีว่าที่พูดนั้น “ถูกต้องแล้วค่ะ”

“ให้ดูว่าลูกไหนลอยน้ำในระดับใด…ถ้าลอยขึ้นสูงแสดงว่าเนื้อ 2 ชั้น – 2 ชั้นครึ่ง (ถ้าลอยตุ๊บป่อง แสดงว่ามะพร้าวห้าว…แต่จะไม่เจอในที่นี้) แต่ถ้าเกือบจมครึ่งลูกแสดงว่าเป็นมะพร้าวอ่อนปกติ ให้ส่งขายในประเทศใกล้ๆ หรือประเทศที่ขนส่งไปไม่เกิน 3 สัปดาห์ (ถ้าจมมิดแสดงว่าอ่อนมากๆยังใช้ไม่ได้…แต่จะไม่เจอในที่นี้)” นี่คือเคล็ดลับที่เป็นภูมิปัญญาไทย

(วิธีเลือกดูมะพร้าวว่าอ่อนหรือแก่ ยังมีหลายวิธี เช่น นับจากทะลายบนลงล่าง ดูจากวงสีขาวรอบขั้ว ใช้นิ้วดีดหรือเขย่าฟังเสียง ฯลฯ…หาอ่านได้จากเว็บทั่วไป)

เคล็ดลับวิธีการเลือกมะพร้าวน้ำหอมแบบลอยน้ำนี้ คุณประยูร บอกว่าได้จากวิถีชีวิตการทำสวนมะพร้าวของคนบ้านแพ้ว และดำเนินสะดวกที่จะทำการยกร่องสวนให้มีร่องน้ำที่เรือพอรดน้ำได้และให้พอลำเรียงมะพร้าวอ่อนที่ตัดจากต้นมาขึ้นบก และเวลาตัดก็ต้องใช้ไม้ค้ำช่วยให้มะพร้าวตกในร่องน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ช้ำ…

มะพร้าวว่ายน้ำขึ้นบก...ลอยแสดงว่าอ่อน
มะพร้าวว่ายน้ำขึ้นบก…ลอยแสดงว่าอ่อน

ระหว่างนำมะพร้าวล่องน้ำมานี่เอง ที่ทำให้สังเกตได้ว่ามะพร้าวบางลูกหรือบางทะลายลอยน้ำได้ไม่เท่ากัน จึงนำมาสู่การสังเกตเวลาปอกเปลือกหรือผ่ามะพร้าวเพื่อนำเนื้อมะพร้าวมารับประทาน นานวันเข้าก็ทำให้รู้ว่าระดับน้ำหนักหรือระดับการลอยน้ำของลูกมะพร้าวที่มีความแตกต่างกัน ทำให้เนื้อเนื้อมะพร้าวหนาบางไม่เท่ากัน (อย่างมีนัยสำคัญ)

มะพร้าวกำลังบรรจุในถุงไนล่อน
มะพร้าวกำลังบรรจุในถุงไนล่อน

ผมดูขั้นตอนการแต่งตัวให้มะพร้าว ตั้งแต่การอาบน้ำให้มะพร้าว การเลือกมะพร้าวอ่อนว่าลูกไหนเหมาะที่จะส่งไปยังสเปน ดูไปจนบรรจุใส่ถุงไนล่อนสีเขียว ถุงละ 8 ลูก และดูห้องเย็นเก็บมะพร้าวที่พร้อมส่งออกไปยังสเปน

“ผมต้องเก็บมะพร้าวไว้ที่ห้องนี้ และรอให้ได้ปริมาณมากพอ…วันหนึ่งๆคนงานของเราก็ผลิตได้หลายหมื่นลูก แต่ว่าตู้หนึ่งๆผมต้องบรรจุให้ได้ 18,000 ลูก พอได้ครบก็ขนเข้าตู้ทีหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเดือนนั้นๆมีออร์เดอร์กี่ตู้ พอครบจำนวนก็ขนส่งไปที่ท่าเรือเพื่อส่งไปสเปนต่อไป”

ก่อนที่จะขึ้น Ford Ranger ติดตามคุณประยูร ไปเข้าสวนเพื่อดูการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ทับทิมจันทร์ และฝรั่งลูกผสมแป้นสีทองกับกิมจู ก็กระเซ้าเล่นๆว่า เคยรู้หรือไม่ว่ามะพร้าวที่เราส่งไปขายนี้พอไปถึงมือผู้บริโภคลูกละเท่าไร

“ลูกละ 200 บาทขึ้นไป” คุณประยูร พูดจบ เราร้องโห้โอ!!!

ผู้เขียนกับคุณประยูร...ในห้องเย็นที่เก็บมะพร้าวรอการส่งออกไปสเปน
ผู้เขียนกับคุณประยูร…ในห้องเย็นที่เก็บมะพร้าว…ให้นอนรอก่อนเดินทางไกลไปสเปน

ผมคิดอยู่ในใจคงมีขั้นตอนการขนส่งและผ่านมือพ่อค้าคนกลางหลายราย จากราคามะพร้าวตามออร์เดอร์เฉลี่ยลูกละ 30 บาท ก็กลายเป็น 200 บาท…ก็คงจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ราคาคงเป็นหลัก 100-200 บาท เอาแค่ราคามะพร้าวน้ำหอมที่ห้องอาหารครัวการบินไทยที่สนามบินเชียงใหม่ วันก่อนเครื่องบินดีเลย์ระหว่างนั่งรอก็ลองสั่งมะพร้าวน้ำหอมมารับประทาน 1 ลูก

“ดูในบิล ตกลูกละ 160 บาท” แล้วนี่ส่งไปถึงยุโรป ส่งไปยังสเปน 5 สัปดาห์กว่าจะถึง ราคาลูกละ 200 กว่าบาทก็สมเหตุสมผลแล้วละครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated