กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนชาวสกลนคร ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพิ่มรายได้หน้าแล้ง
กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนชาวสกลนคร ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพิ่มรายได้หน้าแล้ง

นายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดสกลนคร กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อเสริมรายได้และลดความเสี่ยงการทำข้าวนาปรังในฤดูแล้งว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของการปลูกพืชในฤดูแล้ง หรือ ปลูกพืชใช้น้ำน้อย จึงได้มีโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร เพื่อส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยเน้นการปลูกพืชให้สัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในช่วงหน้าแล้งและลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าวนาปรัง โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนครและสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ดำเนินการวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกับภาคเอกชนและเกษตรกรในพื้นที่

นายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดสกลนคร

สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปลูกพืชใช้น้ำน้อยของจังหวัดสกลนคร มีประมาณ 20,000 ไร่ เกษตรกรมากกว่า 500 ราย ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง มะเขือเทศ แตงโม มันฝรั่ง และพืชผักต่าง ๆ โดยได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าเพราะเป็นพืชที่มีอายุสั้น ระยะเวลาเพียง 120 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยเฉพาะถั่วลิสง จะได้ผลผลิตประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อไร่ หรือบางรายอาจมีรายได้ถึง 10,000 บาทต่อไร่ ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่าการทำนาปรังเฉลี่ย 200 – 5,200 บาทต่อไร่ และการปลูกถั่วลิสงในพื้นที่นาจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยในการทำนาปีฤดูกาลต่อไป เพราะพืชตระกูลถั่วมีธาตุไนโตรเจนจำนวนมากทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้อีกทางหนึ่ง โดยจังหวัดสกลนครมีเกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงประมาณ 200 ราย พื้นที่ปลูก 700-800 ไร่ ส่วนมากในพื้นทีอำเภอเมืองสกลนคร พรรณานิคม และพังโคน

 เกษตรจังหวัดสกลนคร กล่าวถึงช่องทางการตลาด มีภาคเอกชนในพื้นที่มารับซื้อแบบมีพันธะสัญญา (contract farming) เช่น ถั่วลิสง มีบริษัทเอกชนที่ทำถั่วลิสงอบแห้งมารับซื้อทุกเม็ด มันฝรั่ง ที่ปลูกบริเวณริมหนองหาร หรือในพื้นที่อำเภอโพนนาแก้ว และโคกศรีสุพรรณ มีบริษัทเอกชนจากภาคเหนือมาตั้งฐานการผลิต มีพื้นที่ปลูกมันฝรั่งกว่า 4,000-5,000 ไร่ ผลตอบแทน 30,000-40,000 บาทต่อไร่ ขณะที่มะเขือเทศ ในพื้นที่อำเภอเต่างอย ก็มีโรงงานรับซื้อ หรือหากเหลือจากที่โรงงานรับซื้อ เพราะขนาดไม่ได้ตามที่โรงงานต้องการ เกษตรกรส่วนใหญ่จะนำไปขายยังตลาด จนไม่เพียงพอต่อการขาย ถือว่าเรื่องการตลาดไม่น่ากังวล โดยจะส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยต่อไปในอนาคต พร้อมขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น เพราะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้ง 

ด้านนายอำพร สิงห์ทอง เกษตรกรประธานกลุ่มผู้ปลูกถั่วลิสง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ก่อนที่จะมาปลูกถั่วลิสงอย่างจริงจังต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้ทดลองปลูกบวบเหลี่ยม โดยมีบริษัทเอกชนมาแนะนำให้ปลูกแต่สุดท้ายก็ขาดทุนเกือบ 1 แสนบาท จากนั้นมีบริษัทมาแนะนำให้ปลูกข้าวโพด จึงได้ทดลองปลูก แต่สุดท้ายข้าวโพดก็ไม่ได้ผลผลิต เพราะมีแต่ฝัก แต่ไม่มีเมล็ด ขาดทุนเกือบ 2 แสนบาท จนสุดท้ายได้มาปลูกถั่วลิสง เพราะลงทุนน้อย ลงทุนแค่หลักพันบาทต่อไร่ ดูแลรักษาง่าย และได้กำไรดี โดยมีบริษัทเอกชนมารับซื้อทุกเม็ด จากนั้นจึงตั้งกลุ่มผู้ปลูกถั่วลิสงเพื่อให้คำแนะนำ และช่วยเหลือกัน และปลูกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนทางราชการที่จะเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนก็อยากให้ช่วยเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช ส่วนเรื่องการตลาดไม่ได้กังวล เพราะมีบริษัทเอกชนมารับซื้อทุกปี และอยากเชิญชวนเกษตรกรมาร่วมปลูกถั่วลิสงด้วยกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งและเพิ่มรายได้หลังทำนาปีอีกด้วย 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated