นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผอ.ส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8
นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผอ.ส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8

กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง ส่วนเหนือน้ำและส่วนท้ายน้ำ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซาก พัฒนาการเก็บกักน้ำ ตลอดจนการขาดน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน มอบหมายให้นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผอ.ส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8 ลงพื้นที่ศึกษาโครงการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ลำน้ำลำตะคอง เป็นทางน้ำชลประทานประเภท 3 (ทางน้ำที่สงวนไว้ใช้ในการชลประทาน) มีต้นน้ำจากเขาใหญ่ถึงขอบอ่างเก็บน้ำระยะทางรวม 100 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บ้านท่ามะปรางค์ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง ถึงบ้านซับม่วง ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง ถือเป็นลำน้ำสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวอำเภอปากช่อง และพื้นที่ทางตอนใต้ลงไปอีก 8 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา แต่ตลอดทางที่น้ำลำไหลผ่านมักได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาสำหรับการอุปโภคบริโภค ส่วนในฤดูฝนก็มีน้ำหลากจากภูเขา (เขาใหญ่) พร้อมเศษปฏิกูลต่าง ๆ ไหลลงสู่ลำตะคองเป็นจำนวนมาก ทำให้ลำน้ำตื้นเขิน เกิดสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำมาโดยตลอด และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา น้ำในระดับเก็บกักก็น้อยลงเหลืออยู่เพียงร้อยละ 20 ของความจุของอ่าง แม้ปริมาณฝนจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเกิดปัญหาซ้ำซากและทวีความรุนแรงขึ้น

กรมชลประทานจึงจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการแก้ไขปัญหา การจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพื่อบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ในการแก้ไขปัญหาการ จัดเก็บน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง และการพัฒนาแหล่งน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ 2) เพื่อจัดทำกรอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของต้นน้ำลำตะคอง 3) เพื่อรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่ต้นน้ำลำตะคองระยะทาง 100 กิโลเมตรแรก และผังการใช้น้ำจากชุมชนต้นน้ำทั้ง 5 เขตการปกครององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอปากช่อง

4) เพื่อศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ในเรื่องของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ 5) ดำเนินการสำรวจ ออกแบบเบื้องต้น 6) ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ บูรณาการ การมีส่วนร่วมของประชาชนและของทุกภาคส่วน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรมชลประทาน มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใส

สำหรับพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคองประกอบไปด้วย 5 เขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลเมืองปากช่อง องค์การบริหารส่วนตำบลปากช่อง องค์การบริหารส่วนตำบลขนงพระ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำแดง และเทศบาลตำบลหมูสี โดยการดำเนินงานได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนมีเสนอความคิดเห็นในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ส่วนการศึกษาโครงการมีกำหนดระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 270 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติงาน คือวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึง วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด จึงทำให้ต้องระยะเวลาในการศึกษาจนถึงประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.2566

จากการศึกษาในบริบทอย่างรอบด้านของโครงการพบว่า ส่วนเหนือน้ำมีปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของน้ำ การจัดการและบริหารทรัพยากร การพัฒนาเมืองกับสิ่งแวดล้อม กรอบการแก้ปัญหามี 10 โครงการ 3 ยุทธศาสตร์ ขณะที่ส่วนท้ายน้ำมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคในฤดูแล้ง น้ำท่วมที่ท้ายอ่างลำตะคอง และปัญหาคุณภาพน้ำในชุมชนเมือง กรอบการแก้ปัญหาจะมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2 โครงการ

ทั้งนี้ การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการดังกล่าวในครั้งที่ 2 ในอำเภอปากช่องเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง กล่าวว่า ลำน้ำลำตะคองถือเป็นส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยวของอำเภอปากช่อง เพราะพื้นที่สองฝั่งในอำเภอปากช่องที่น้ำลำตะคองไหลผ่านส่วนใหญ่เป็นชุมชน มีรีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านค้า ในแต่ละปีมักประสบปัญหาอุทกภัย น้ำจากลำตะคองมักเอ่อล้นท่วมเขตชุมชนและเขตเทศบาล ขณะเดียวกันฤดูแล้งก็ไม่มีเพียงพ่อต่อความต้องการของประชาชน ส่งผลต่อพื้นที่ท้ายน้ำที่ทำการเกษตร ฉะนั้นการศึกษาโครงการของกรมชลประทานและการนำเสนอผลศึกษาในที่ประชุม จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้น้ำเป็นอย่างมาก

“ขอบคุณกรมชลประทาน ที่ได้เล็งเห็นผลประโยชน์ของลำน้ำลำตะคอง ผลการศึกษาของโครงการจะถูกส่งมองต่อให้ทางอำเภอ รวมถึงหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นแนวทางวางแผน บริหารจัดการใช้น้ำจากลำตะคองให้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต และสำหรับอำเภอปากช่องซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว อยากขอความร่วมมือจากกรมชลประทาน ช่วยดูแลจัดการส่งเสริมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย”

ทางด้าน นายอสัมภิญพงศ์  โรจนบูรานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านโป่งประทุน อ.ปากช่อง บอกว่าการสร้างประตูระบายน้ำจะทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมมามีปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมขาดการจัดการที่ดีร่วมกัน จึงเห็นด้วยกับการศึกษาความเหมาะสมในโครงการดังกล่าวนี้

อนึ่ง จากการศึกษาเบื้องต้นบริเวนเหนือเขื่อนลำตะคอง อำเภอปากช่อง พบว่าว่ามีจุดที่เหมาะสมจะทำประตูระบายน้ำ(ฝายชะลอน้ำแบบฝายพับได้) จำนวน 4 จุด คือ ประตูระบายน้ำที่ 1 บ้านท่ามะปรางค์ ต.หมูสี อ.ปากช่อง ประตูระบายน้ำแห่งที่ 2 บ้านท่าช้างเหนือ ต.หมูสี อ.ปากช่อง ประตูระบายน้ำแห่งที่ 3 บ้านขนงพระเหนือ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง ประตูระบายน้ำแห่งที่ 4 บ้านโป่งประทุน ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated