เรื่อง : เบียร์ เกษตรก้าวไกล

ป้้ายด้านหน้า "ปัญญาการเกษตร"
ป้้ายด้านหน้า “ปัญญาการเกษตร”

ลมหนาวมาเยือนคราวนี้ ใครๆก็ต้องนึกถึงมันเทศเผาแบบอุ่นๆ แน่นอนว่าความอบอุ่นแบบนี้  เกษตรก้าวไกล มีมาเสริฟแน่นอน วันนี้เราไม่รอช้า รีบพาทุกคนไปชิมกันถึงนครพนม เพราะเจ้าของสวนเขาการันตีมาว่า มันหวานญี่ปุ่นของที่นี่ หวานอร่อยสมชื่อจริงๆ

ก่อนจะไปชิมมันหวานญี่ปุ่น เราขอพาทุกคนมารู้จักกับ ครูภูษิต แสนสุภา ครูวิชาภาษาอังกฤษโรงเรียนมหาชัยวิทยาคม อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม หรือเจ้าของไร่มันหวานญี่ปุ่น ที่กำลังไปได้สวยอยู่ในขณะนี้

เริ่มต้นปลูกมันญี่ปุ่น
ครูภูษิต แสนสุภา กับไร่มันในช่วงแรกที่เริ่มปลูก
ครูภูษิต แสนสุภา กับไร่มันในช่วงแรกที่เริ่มปลูก

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในตอนแรกครูภิษิตไม่ได้สนใจเรื่องมันญี่ปุ่น แต่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการชุมชนแปลงชีวมวลสู่พลังงานและไบโอชาร์ (BEBC) จึงได้ศึกษาและทดลองใช้กับต้นลิ้นจี่ จนเมื่อปีที่แล้วมีโอกาสส่งไบโอชาร์ที่เป็นผลิตภันฑ์ของตัวเองไปขายที่ตลาด อ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) และมีโอกาสพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าเกษตรกร จึงได้ถามว่าพืชผลอะไรขายดีที่สุด จึงได้คำตอบมาว่า คือ มันเทศญี่ปุ่น หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า มันญี่ปุ่น

เมื่อทราบอย่างนั้นแล้ว ครูภูษิตจึงเริ่มหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และใช้เวลาตระเวนหายอดมัน และค้นหาเจอสวนหนึ่งที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ติดต่อขอซื้อจำนวน 2,000 ยอด รวมค่าขนส่งแล้วอยู่ในราคายอดละ 6 บาท

ยอดมันในช่วงแรก
ยอดมันในช่วงแรก

ขณะเดียวกันได้มีโอกาสรู้จักเกษตรกรที่กำลังปลูก ลูกสาวเขานำเข้ามาปลูกจากญี่ปุ่น เขาเป็นคนปลูกมันญี่ปุ่น แต่ยังไม่รู้จักตลาดขาย ในตอนนั้นเกษตรกรท่านนี้ได้นำยอดมันมาให้ผมทดลองปลูกอีก 1,000 ยอด  ในราคายอดละ 1 บาท จากนั้นจึงได้เริ่มปลูก” ครูภูษิตเล่า

ก่อนอื่นขอให้ความรู้นิดหนึ่งว่าการปลูกมันหวานญี่ปุ่นในไทย สามารถทำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นจะปลูกมันได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อน (เมษายน – ตุลาคม) อุณหภูมิเฉลี่ย 28 – 37 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิระดับเดียวกับในประเทศไทย จึงมั่นใจได้ว่ามันหวานญี่ปุ่นนั้นสามารถปลูกในไทยได้อย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับดินที่ใช้ปลูกนั้นจะเป็นดินร่วนปนทรายเป็นหลัก

ผลผลิตครั้งแรกเป็นที่น่าพอใจ
ผลผลิตครั้งแรกเป็นที่น่าพอใจ

ซึ่งครูภูษิตได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปลูก 1,000 ยอด ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งเป็นสวนลิ้นจี่ แต่เพราะไม่มีพื้นที่จึงทำยกร่องอยู่ประมาณ 10 ร่อง ยาว 20 เมตร จากนั้นก็ลงมันญี่ปุ่น ผสมกับการทดลองด้วยไบโอชาร์ เนื่องจากไบโอชาร์มีส่วนผสมของปุ๋ยชีวภาพอยู่แล้ว จึงไม่ได้ใส่ปุ๋ยใดเพิ่มอีก แม้จะเป็นดินลูกรัง แต่ผลปรากฏว่าในเวลา 2 เดือนครึ่ง ออกหัวใหญ่มาก

ขุดครั้งแรกตกใจมาก ทำไมหัวมันใหญ่ขนาดนี้ แต่ไม่กล้าขาย เพราะไม่รู้จักตลาด ก็เลยเอามากิน ด้วยการผ่าและนึ่งทำขนมหวาน แต่จะอร่อยมากถ้านำมาเผา

สายพันธุ์มันญี่ปุ่น

หลังจากที่เริ่มต้นไป 1,000 ยอด จึงเพิ่มเนื้อที่อีก 1 งาน เพื่อเอาลงอีก 2,000 ยอด โดยการเด็ดยอดเดิม จากนั้นก็เริ่มมีหลายสีเข้ามา ขณะเดียวกันก็เริ่มศึกษาสายพันธุ์ และได้รู้ว่าพันธุ์ที่ขายดีและมีคนนิยมมีอยู่ 3 พันธุ์ที่สวนนำมาปลูกคือ

มันเทศสีม่วง โอกินาว่า
มันเทศสีม่วง โอกินาว่า
  • มันเทศสีม่วง โอกินาว่า เลื่องลือว่ามีรสชาติอร่อยระดับโลก
  • ส้ม เบนิฮารุกะ มีความหวานที่เหนือกว่ามันหวานธรรมดาหลายเท่า
  • เหลือง เบนิฮารุกะ เนื้อนุ่มหนึบจนแทบจะละลายทันทีที่เข้าปาก
วิธีการปลูกมันญี่ปุ่น

สำหรับวิธีการปลูกก็แสนง่าย วันนี้ “เกษตรก้าวไกล” มีวิธีการปลูกมันญี่ปุ่น สไตล์ชาวญี่ปุ่นจากบทความแปลจาก JA (Japan agricultural Co-operatives)  จากเว็บไซต์ www.orchidtropical.com มาฝากกัน

เริ่มแรก การคัดเลือกยอดพันธุ์ลักษณะดีมักเป็นข้อได้เปรียบ ลักษณะที่ดีของยอดพันธุ์ตามหลักของ JA บอกไว้ว่าควรมียอดใบประมาณ 6-7 ใบบนเครือ มีสีสันที่เขียวสวยและไม่บอบบาง ก้านเครืออ้วนสมบูรณ์ ยาวประมาณ 25-30 cm ช่วงระหว่างใบต้องไม่เว้นระยะยาวห่างจนเกินไป

ขั้นที่สอง การเตรียมดินและแปลงเพาะปลูก การขึ้นแปลงจะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่ายกว่าการปลูกลงพื้นดินโดยตรง JA จึงแนะนำให้ขึ้นดินสูงประมาณ 30cm ร่องกว้างระหว่างแปลง 30cm และมีตัวแปรงที่กว้างประมาณ 50cm เมื่อขึ้นแปลงเสร็จแล้วให้เจาะหลุมกลางแปลงแล้วใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยคอกลงไปรองพื้น

ปิ้งเสร็จใหม่ๆ พร้อมทาน
ปิ้งเสร็จใหม่ๆ พร้อมทาน

*ในกรณีที่บ้านเรา อาจจะใช้ปุ๋ยคอกวัว หรือ ปุ๋ยมูลไก่ ก็ได้ผลผลิตที่ดีเช่นกันครับ JA กล่าวไว้ด้วยว่าปุ๋ยที่มี P และ K สูงจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น หรือจะใช้ไบโอชาร์ก็ได้

ขั้นที่สาม การปลูกยอดพันธุ์มันเทศ ลงดิน ในการปลูกยอดพันธุ์ลงดินทำได้ 2 วิธี JA แนะนำไว้ว่าในกรณีที่ดินมีความชื้นต่ำ หรือ แห้งง่าย ให้ปลูกแบบนำต้นวางราบดินแล้วกลบได้เลย ส่วนดินที่มีความชื้นคงที่ให้ฝังต้นลงไปให้เหลือแต่ยอดโผล่พ้นดีให้ได้แบบในภาพจะทำให้ผลผลิตติดพวงสวยและดีกว่า

*สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น ดังนั้นวิธีการปลูกแบบที่ 2 จึงเหมาะสมกับบ้านเรามากกว่าถือว่าได้เปรียบกว่าญี่ปุ่นที่มีสภาพอากาศแห้งบ้างชื้นบ้างไม่คงที่แบบบ้านเรา

ขั้นที่สี่ การดูแลยอดเครือของ มันเทศญี่ปุ่น ระหว่างรอผลผลิต มันเทศญี่ปุ่น ที่ปลูกไปแล้วกว่า 2 เดือนจะเริ่มยืดยาวเลื้อยลงล่างแปลงปลูกและเริ่มหยั่งรากลงดิน ให้เราถอนเครือที่เลื้อยลงแปลงออก โดยพยายามถอนไม่ให้ต้นขาด

ทำไมต้องถอนหละ! นั่นก็เพราะว่าต้นที่เลื้อยออกพวกนี้หลังจากหยั่งรากใหม่แล้วรากใหม่จะกลายเป็นหัวมัน พอมาถึงจุดนี้หลายคนคง งง ว่ามันก็ดีที่จะได้มันเทศเพิ่มขึ้น หัวมันเทศที่ได้จะเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้คุณภาพของหัวมันเทศที่ได้ลดลง ขนาดอาจจะเล็กหรือความหวานอาจจะลดลง

ทั้งนี้เกิดจากหัวมันเทศที่เกิดใหม่นอกแปลงดึงสารอาหารจากหัวมันเทศหลักที่เราปลูกในแปลงไปนั่นเอง พอเริ่มแชร์สารอาหารกันไปมากขึ้นก็จะกลายเป็นว่าความอร่อยที่ควรจะอัดแน่นอยู่ที่เดียวก็เจือจางลงไปอยู่จุดอื่น ๆ แทน

ขั้นที่ห้า เก็บเกี่ยว หัวมันเทศญี่ปุ่น ที่เราปลูก นับจากวันที่เราปลูกเพียง 100-120 วัน เราก็สามารถขุด มันเทศญี่ปุ่น ที่เราปลูกมาทานหรือจำหน่ายได้ แรก ๆ ก่อนขุดเราอาจจะเช็คให้มั่นใจสักหน่อยว่ามีหัวมันติดอยู่ไหมด้วยการดึง ๆ ดู ถ้าที่โคนต้นหนัก ๆ หรือ ถ้าเอามือคุ้ย ๆ ดูตรงโคนแล้วเห็นรากใหญ่ ๆ ก็ใช่หัวมันแน่นอน ก็ถึงเวลาขุดแล้ว

*บางตำราแนะนำว่าควรปลูกให้มีอายุอย่างน้อย 130-140 วัน ลองประยุกต์ เพื่อสะดวกและง่ายต่อการขุดเราอาจจะตัดใบตัดเครือทิ้งจนเหลือแต่ตอแล้วจึงขุดหัวมันขึ้นมา แต่ต้องระวังด้วยระหว่างการขุดหากจอบไปถูกหัวมันเข้าอย่างจังคงบอบช้ำหักทำให้รูปร่างไม่สวยงามเสียราคาไป

การตลาดออนไลน์

แน่นอนว่ามีคนขายต้องมีคนซื้อ ครูภูษิตใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายหัวมัน  โดยใช้ฐานลูกค้าเก่าจากการขายไบโอชาร์ที่ติดตามอยู่ในเพจเฟสบุ๊ค เมื่อหัวมันออกจึงลองโพสต์ขาย และด้วยสีสันที่น่าทาน ทำให้คนสนใจสั่งซื้อกันไม่ขาดสาย

ผลผลิตมันหวานญี่ปุ่นเตรียมพร้อมส่งขาย
ผลผลิตมันหวานญี่ปุ่นเตรียมพร้อมส่งขาย

ตอนนี้ผมขายหัวมันทางออนไลน์อย่างเดียว ขายกิโลกรัมละ 80 บาท ไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ ถ้ามีมันออกมาสวยๆ ลูกค้ารออยู่แล้วว่าเราจะโพสต์ขายเมื่อไหร่ ไม่เกินสองวันขายได้

ครูภูษิตยังบอกว่า ตอนนี้มีลูกไร่ที่ซื้อยอดพันธุ์ไปปลูก และส่งหัวมันกลับมาขาย สามารถรองรับตลาดตรงนี้ให้ได้ ส่วนการขายมันต่อวัน ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะขุดหัวมันได้เท่าไหร่ เพราะมีเท่าไหร่ก็ขายหมด ในหนึ่งอาทิตย์จะสั่งจากลูกไร่ รวมแล้ว 300-400 กิโลกรัม โดยซื้อคืนคัดหัวในราคา 30-40 บาท

ขุดขึ้นมาใหม่ๆ น่าลอง น่ากินจริงๆ
ขุดขึ้นมาใหม่ๆ น่าลอง น่ากินจริงๆ

ก่อนจบการสนทนา ครูภูษิตได้แง้มบอกว่า สำหรับใครที่สนใจอยากปลูกไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากจำนวนมากๆ เริ่มที่ 100 ยอดก็ยังได้ ลงทุนเริ่มต้นในราคา 300 บาท เมื่อปลูกแล้วไปแล้ว ดูแลดี ดิน ได้ผลดี สิ่งที่จะได้จาก 100 ยอด คือนับไปเลยว่า 1 ยอด/กก. (หัวมัน) ยอดสามารถตัดยอดมันขายได้อีกในราคายอดละ 2-3 บาท ในเวลาเพียงสองเดือนสามารถทำเงินได้อย่างน้อย 3,000 บาท

ผมอยากให้ตั้งปณิธานไว้ก่อนว่า การปลูก เราไม่ได้ทำแค่ทดลอง เพื่ออยากรู้ แต่เราทำแล้ว เสียเงินไปแล้ว เราต้องเต็มที่ สู้กับมันเต็มที่ ” ครูภูษิตเอ่ยทิ้งท้าย

หากใครสนใจ อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม สามารถทักไปที่ชื่อเฟสบุ๊ค “ภูษิต แสนสุภา” ได้ทันทีค่ะ

ขอบคุณภาพสวยๆ จากปัญญาการเกษตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated