กรมชลฯยืนยัน
กรมชลฯยืนยัน "จะไม่ปล่อยน้ำรวดเดียวตามที่เป็นข่าวในโลกโซเชียล"

วันนี้ (28 ตุลาคม 2560) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมมอบถุงยังชีพและรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับแผนการรับน้ำเข้าทุ่งให้เหมาะสมในปีถัดไป

อธิบดีกรมชลประทานพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่
อธิบดีกรมชลประทานพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วยว่า จากนี้ไประดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยาจะทรงตัวและลดระดับลงตามลำดับตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทุ่งรับน้ำแต่ละแห่งทำหน้าที่ในการหน่วงน้ำไม่ให้ไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้เกินกว่าแผนที่วางไว้  โดยทุ่งบางระกำในจังหวัดพิษณุโลกช่วยรับน้ำไว้จากแผนเดิม 400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม) เป็น 550 ล้าน ลบ.ม และทุ่งรับน้ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 12 ทุ่งก็เช่นเดียวกันได้รับน้ำมากกว่าแผนที่กำหนด

กรมชลประทานได้ประสานกับส่วนราชการสรุปแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้ทุ่งเป็นแหล่งรับน้ำในปีต่อไป
กรมชลฯได้ประสานกับส่วนราชการสรุปแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้ทุ่งเป็นแหล่งรับน้ำในปีต่อไป

ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในพื้นที่ รวมกับปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมา ประกอบกับมีภาวะน้ำทะเลหนุน เป็นผลทำให้มีน้ำไหลเข้าทุ่งเพิ่มขึ้นซึ่งกรมชลประทานได้ประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบแล้วอย่างเช่นในพื้นที่ทุ่งผักไห่และทุ่งป่าโมกข์ช่วยรับน้ำไว้ได้ประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม มากกว่าแผนถึง 100 ล้าน ลบ.ม เป็นผลทำให้มีน้ำท่วมพื้นที่ข้างเคียงเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีสั่งการผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด กรมชลประทานได้ประสานกับส่วนราชการสรุปแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้ทุ่งเป็นแหล่งรับน้ำในปีต่อไป

กรมชลนำของบริจาคแก่พี่น้องเกษตรกร
กรมชลนำของบริจาคแก่พี่น้องเกษตรกร

สำหรับการนำน้ำที่อยู่ในพื้นที่ตอนบนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท รวมทั้งปริมาณน้ำที่เปิดรับเข้าเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งรับน้ำต่างๆ นั้น กรมชลประทานจะเริ่มบริหารจัดการโดยการทยอยลำเลียงน้ำออกตามรอบเวรและความเหมาะสมโดยคำนึงถึงพื้นที่นอกคันกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะทยอยนำน้ำออกจากทุ่งบางระกำในวันที่ 1 พ.ย นี้ และนับจากนี้อีก 1 สัปดาห์ก็ค่อยๆจัดการน้ำออกจากทุ่ง 12 ทุ่งให้เหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำสำหรับเตรียมแปลงด้วยและจะต้องดูแลจัดสรรน้ำให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลด้วย

น้ำที่อยู่ในพื้นที่ตอนบนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
น้ำที่อยู่ในพื้นที่ตอนบนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท

“ขอยืนยันว่าจะควบคุมปริมาณน้ำจากพื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งรับน้ำและพื้นที่ตอนบนออกลงสู่ลำน้ำและออกสู่ทะเลให้สอดคล้องเหมาะสมกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ จังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล และจะไม่มีการปล่อยน้ำรวดเดียวตามที่เป็นข่าวในโลกโซเชียลอย่างแน่นอน ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องน้ำและสภาพอากาศจากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น และจากนี้ไประดับน้ำในพื้นที่ต่างๆก็จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ต่อจากนี้ฝนจะเริ่มลงสู่พื้นที่ภาคใต้ซึ่งกรมชลประทานได้สั่งการให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated