เกษตรกรบุรีรัมย์เจ๋ง! พลิกวิกฤตยาง...ผลิตหมอนจากยางพาราสร้างรายได้
คณะผู้บริหาร การยางแห่งประเทศไทย ถ่ายภาพร่วมกับเกษตรกร และสื่อมวลชน ที่เข้าไปเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด เมื่อเร็วๆนี้

นายสมปอง ชำนิจ ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด เปิดเผยว่า “สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด” อยู่ในการควบคุมของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสหกรณ์แห่งเดียวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รวบรวมน้ำยางดิบมาทำเป็นยางแผ่นรมควัน  และจัดหาตลาดจำหน่ายอย่างครบวงจร ถือเป็นการยกระดับคุณภาพการผลิตยางพาราให้ได้มาตรฐาน และสามารถสร้างอำนาจต่อรองในตลาดยางพารากับบริษัทผู้รับซื้อโดยตรง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการปันผลเฉลี่ยคืนหลังจากขายน้ำยางสด ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นยางแผ่นแล้ว กิโลกรัมละ 4-5 บาท ที่สำคัญเกษตรกรไม่ต้องเสียเวลา ลดต้นทุนแรงงานผลิตยางแผ่น นอกจากนั้นทางสหกรณ์ยังมีการนำน้ำยางยางพารามาแปรรูปเป็นหมอนจากยางพาราซึ่งเพิ่มมูลค่าจากอีกต่อหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างยั่งยืนด้วย

ผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา เกษตรกรบุรีรัมย์
ผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ของสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด
นายธีธัช  สุขสะอาด (เสื้อเหลือง) ผู้ว่าการ การยางฯ และคณะ ออกพบปะเกษตรกร
นายธีธัช สุขสะอาด (เสื้อเหลือง) ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย และคณะ ออกพบปะเกษตรกร

ด้าน นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนทำให้ “ยางพารา” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราดีขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำยางพาราปริมาณสูงขึ้น

หมอนยางพารา ที่เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้
หมอนยางพารา ที่เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้

โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารา ประมาณ 236,370 ไร่ สามารถให้ปริมาณผลผลิตน้ำยางประมาณ 48,974 ตัน  ถือเป็นปริมาณผลผลิตน้ำยางพาราที่สูงมากกว่าพื้นที่ปลูกยางพาราจังหวัดอื่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการยางพาราอย่างเป็นระบบให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ จำกัด ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนสถาบันเกษตรกรกับการยางแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนการสร้างโรงอบและรมยาง จนพัฒนาอย่างต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ โดยสหกรณ์ได้ขยายโรงรมและวัสดุอุปกรณ์ เช่น ตะกง จักรรีดยาง เพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกร ด้วยที่ผ่านมามีผลผลิตเกินกำลังการผลิต จึงจำเป็นต้องขายผลผลิตในรูปแบบน้ำยางสดไปบางส่วน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การเก็บโรงรับน้ำยางไม่เพียงพอ

เกษตรกรชาวสวนยางบุรีรัมย์ กับผลงานที่ได้รับการส่งเสริมจาก การยางแห่งประเทศไทย
เกษตรกรชาวสวนยางบุรีรัมย์ กับผลงานที่ได้รับการส่งเสริมจาก การยางแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา” ซึ่งเป็นกลุ่มฐานเกษตรยางพาราที่สามารถผลิต “ยางเครพรมควัน” คุณภาพดี ที่สามารถย่นเวลาการรมควันทั้งยางแผ่นและยางเครพจาก 4-5 วัน เหลือเพียง 24-36 ชั่วโมงเท่านั้น และทำให้ยางพารา ไม่ขึ้นรา ไม่พอง และเสียรูปทรง ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร จากเดิมต้นทุนอยู่ที่ 75-80 สตางค์/กิโลกรัม เหลือเพียง 16-31 สตางค์/กิโลกรัม เท่านั้น ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพาราสามารถผลิตยางเครพแห้ง 100% ได้เดือนละ 30 ตัน.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated