สยยท. ดันยางไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0...มั่นใจแก้ราคาอย่างยั่งยืนได้
รวมทีม สยยท. ดันยางไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0...

สยยท. ระบุการผลักดันยางพาราไทยสู่อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะช่วยแก้ปัญหาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนอีกทั้งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นฮับยางพาราโลก เพราะได้เปรียบทั้งระบบขนส่งและความพร้อมด้านผลผลิตคุณภาพ

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยภายหลังงานเสวนาอนาคตยางพาราบนบริบทไทยแลนด์ 4.0 ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) โดยคาดหวังว่าภายใน 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่คนไทยจะมีคุณภาพชีวิต และรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และทรัพยากรต่างๆอย่างมั่งคั่ง และยั่งยืนด้วย ทาง สยยท.จึงเห็นควรที่จะจัดเสวนาอนาคตยางพาราบริบทไทยแลนด์ 4.0 ขึ้น เพื่อปฏิรูปและเตรียมพร้อมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราก้าวสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากจะนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆมาใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปยางให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแล้ว เกษตรกรยังจะต้องมีความรู้เรื่องการบริการจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.)
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางฯ และคณะ โชว์หนังสือยางไทย

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี 2534 แต่เรากลับไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคายางในตลาดโลกได้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นส่งออกยางในรูปของวัตถุดิบเป็นหลัก โดยล่าสุดปี 2558 ส่งออกน้ำยางดิบสูงถึง 3.879 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 86.33 ของผลผลิตทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 170,421.29 ล้านบาท ขณะที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปเพียง 610,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 13.67 แต่มีมูลค่าสูงถึง 467,347 ล้านบาท จากมูลค่าที่แตกต่างกันและความต้องการผลิตภัณฑ์แปรรูปยางหลากชนิดซึ่งยังเป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ ตัวหนอนยาง สนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น ซีลสุขภัณฑ์ยาง ล้อยางฯ สยยท.เชื่อมั่นว่าการผลักดันยางพาราสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องมีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราที่หลากหลายจะนำไปสู่การสร้างงานและแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรภาพด้านราคายางอย่างยั่งยืน” นายอุทัยกล่าว

ประธาน สยยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้หากภาครัฐสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเบื้องต้น และการเข้าถึงแหล่งทุน ควบคู่ไปกับมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ในอนาคตประเทศไทยจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นฮับด้านยางพารา ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตยางจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมาร์ กัมพูชา ฯลฯ มาแปรรูปเพื่อส่งออกได้มากขึ้น เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของระบบขนส่งอยู่แล้ว

นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้สอดคล้องกับบริบทไทยแลนด์ 4.0 สยยท.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้ดูแลเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ นอกจากจะเร่งทำความเข้าใจ จัดอบรมความรู้ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว สยยท. ยังมีแผนที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประจำจังหวัดทั้ง 63 จังหวัด จาก 76 องค์กร ซึ่งจะต้องจัดทำฐานข้อมูลรายจังหวัดที่เกี่ยวข้องทุกด้าน อาทิ จำนวนเกษตรกร พื้นที่ปลูกยางทั้งหมด ปริมาณน้ำยางของแต่ละพื้นที่ สวนยางที่ยังไม่ให้ผลผลิต ตลอดจนจำนวนสวนยางที่อยู่ในพื้นที่อุทยาน ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประจำกระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจะทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และความไม่เสถียรภาพด้านราคายางมีความชัดเจนทันเหตุการณ์มากขึ้น

บทบาทสำคัญของ สยยท. คือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล รับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศในทิศทางเดียวกัน สยยท.จึงไม่ได้มีหน้าที่กำกับหรือควบคุม แต่ทำหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวสวนยาง ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่หารือกับภาคเอกชนเพื่อขยายช่องทางตลาดผลิตภัณฑ์ยางให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น” นายอุทัย กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated