สหกรณ์ฯท่าแพเดินหน้านโยบาย “ร่วมใจแก้จน” หนุนปลูก “สละ-เกษตรวิถีใหม่” เพิ่มรายได้ช่วงเว้นว่างกรีดยาง
สหกรณ์ฯท่าแพเดินหน้านโยบาย “ร่วมใจแก้จน” หนุนปลูก “สละ-เกษตรวิถีใหม่” เพิ่มรายได้ช่วงเว้นว่างกรีดยาง

สหกรณ์ฯท่าแพเดินหน้านโยบายร่วมใจแก้จน ของคนสหกรณ์ หนุนสมาชิกปลูกสละสุมาลี เลี้ยงโคต้นน้ำเพิ่มรายได้ หลังราคายางและปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมชูทำเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

สหกรณ์การเกษตรท่าแพ จำกัด สนับสนุนให้สมาชิกปลูก “สละสุมาลี” ซึ่งเป็นพืชตัวใหม่ที่คณะกรรมการสหกรณ์ฯและสมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะปลูกได้ดีในพื้นที่อ.ท่าแพ จ.สตูล โดยเริ่มต้นนำร่องไป 17 รายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากนั้นก็ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังส่งเสริมสมาชิกเลี้ยงโคขุนโดยสนับสนุนแม่พันธุ์ครอบครัวละ 3 ตัว พร้อมปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

นายประชา กาสาเอก ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรท่าแพ จำกัด กล่าวถึงการส่งเสริมเกษตรวิถีใหม่แก่สมาชิกเพื่อเพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ด้วยการเฟ้นหาอาชีพเกษตรใหม่ ๆ นอกเหนือจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของสมาชิกสหกรณ์ฯในปัจจุบัน แต่ทว่ายางพาราไม่สามารถกรีดได้ทุกวัน เนื่องด้วยฤดูการกรีดยางพาราจะตรงกับช่วงฤดูฝน และฤดูแล้งช่วงยางพาราผลัดใบรวมระยะเวลาหลายเดือน ทำให้สมาชิกไม่มีรายได้ ส่งผลกระทบต่อการชาระหนี้กับสหกรณ์ ทั้งมีความล่าช้าและไม่สามารถชาระหนี้ได้ จึงทำให้สหกรณ์มีหนี้เสีย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกด้วยการหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

“มีสมาชิก 2,000 กว่าครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง ปลูกปาล์มน้ำมัน ทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงโคขุน ปลูกสละสุมาลี มีนำร่อง 17 รายเฉลี่ยรายละ 3-5 ไร่ ๆ ละ 68 ต้น ปลูกมา 3 ปีกว่าแล้ว จะเริ่มให้ผลผลิตปลายปีนี้ (2566) โดยสหกรณ์จะให้เงินทุนรายละไม่เกิน 2 แสนใน 5 ปี ปลอดดอก 3 ปี เป็นเงินกู้ในโครงการชุมชนสร้างไทยของกรมส่งเสริมสหกรณ์  สหกรณ์ของผมได้มา 17 ล้านแล้วมาปล่อยให้สมาชิกกู้ต่อ”

นายประชาแจงรายละเอียดต่อว่าสำหรับการกู้ของสมาชิกแต่ละรายได้จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อแม่พันธุ์โคขุนในระยะต้นน้ำที่สหกรณ์ฯให้การสนับสนุนรายละ 3 ตัว การปลูกสละพันธุ์สุมาลี นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ภายใต้โครงการโคกหนองนาโมเดล ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการผลิตต้นทุนต่ำ ด้วยการให้สมาชิกผสมปุ๋ยใช้เองสูตรต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนากรผลิต แทนการซื้อปุ๋ยสำเร็จรูปที่มีราคาแพงเนื่องจากสหกรณ์มีโรงผสมปุ๋ยอยู่แล้ว

“ทำไมต้องมาลงที่สละ ไม่ปลูกไม้ผลอื่นเช่นทุเรียน เพราะเรามองว่าสละมีอายุที่ยืนยาว 40-50 ปีและการดูแลก็ง่าย ไม่เหมือนกับทุเรียน บางทีปลูกมาได้ 3-4 ก็ตายเพราะโรคเยอะ เลยให้สมาชิกลองปลูกสละพันธุ์สุมาลีดู เพราะที่นี่ยังไม่มีใครปลูก พาไปดูงานที่พัทลุงเมื่อ 3 ปีที่แล้วนำต้นพันธุ์มาทดลองปลูก ปรากฏว่าเจริญเติบโตได้ดี ปลายปีนี้ก็จะเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว เพราะะสละจะให้ผลผลิตเต็มที่อายุ 5 ปีขึ้นไป”ผู้จัดการสหกรณ์ฯคนเดิมเผย 

ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรท่าแพ จำกัด มีทุนหมุนเวียนกว่า 600 ล้านบาท ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ ธุรกิจสินเชื่อ หาแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำให้กับสมาชิก ธุรกิจปั้มน้ำมัน มินิมาร์ท เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้สหกรณ์มีนโยบายให้สมาชิกหันมาใช้พลังงานทดแทนภายในครัวเรือนเพื่อลดต้นทุนค่าไฟแพง โดยจะเริ่มนำร่องที่สำนักงานของสหกรณ์ฯเพื่อเป็นต้นแบบให้กับสมาชิกในการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟฟ้าอีกด้วย

“สหกรณ์อื่นให้สินเชื่อเป็นหลัก แต่ของเรามีครบวงจร มีปั้มน้ำมัน มินิมาร์ท สมาชิกสร้างบ้านเรามีวัสดุก่อสร้างให้บริการ มีหลากหลายธุรกิจไม่ได้เน้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง สมาชิกเข้ามาในสหกรณ์ต้องให้ได้รับการบริการทุกเรื่อง ปัญหาที่เราเจอคือรายได้เป็นตัวหลัก เพราะสมาชิกของเราส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ถ้าเมื่อไหร่ผลผลิตตกต่ำคือไม่ไหวจบเลย”ผู้จัดการสหกรณ์ฯท่าแพ กล่าว

ขณะที่ นายสุริยา โล๊ะเต่ง นักวิชาการส่งเสริมสหกรณ์ชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล กล่าวถึงการแก้ปัญหาความยากจนให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าแพ จำกัด โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สนง.เกษตรจังหวัด สนง.เกษตรอำเภอ ในการให้ความรู้ทั้งกระบวนการของการปลูกสละ และทำเกษตรผสมผสาน ขณะที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล ได้ร่วมให้ความรู้ เรื่องการสหกรณ์และการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรท่าแพ จำกัด ค้นหาสาเหตุปัญหาดังกล่าว และ มีแนวความคิดถ้าจะแก้ปัญหาต้องสร้างอาชีพเสริมรายได้ในช่วงฤดูฝน ไม่มีรายได้จากอาชีพหลักทำสวนยางพารา โดยคิดโครงการส่งเสริมการเกษตรวิถีใหม่ ด้วยการปลูกสละพันธ์สุมาลี และเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ที่ว่างในสวนยางพารา โดยสหกรณ์สำรวจความต้องการเข้าร่วมโครงการของสมาชิกและสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำรายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาโครงการ 5 ปี

“จุดเด่นท่าแพมีธุรกิจหลากหลาย คอยตอบสนองความต้องการสมาชิกส่วนใหญ่เกือบทุกประเภทอย่างเงินฝากเงินกู้เป็นธุรกิจอยู่แล้ว ส่วนเรื่องปุ๋ยต้นทุนต่ำ สมาชิกสามารถมาซื้อปุ๋ยจากสหกรณ์ เป็นปุ๋ยที่เราผสมเองตามความต้องการของสมาชิก ต้องการสูตรไหนสั่งให้สหกรณ์ทำได้ทันที ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยสำเร็จรูปตามร้านค้าเพราะมีราคาสูงกว่า ตอนนี้สหกรณ์ท่าแพเติบโตด้วยธุรกิจของมันเองอยู่แล้ว แต่จุดที่เข้ามาเสริมในขณะนี้คือในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก ณ วันนี้อาจเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่วันข้างหน้าพยายามจะขยายอาชีพของสมาชิกให้ครอบคลุมมากขึ้น”นายสุริยา โล๊ะเต่ง นักวิชาการส่งเสริมสหกรณ์ชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated