สยามคูโบต้า เปิดตัว “เกษตรทิพย์ฟาร์ม” ต้นแบบ Smart Farm ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สยามคูโบต้า และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) เปิดตัว “เกษตรทิพย์ฟาร์ม”ต่อยอดจาก Smart Community สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) ต่อยอดความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SKCE) เปิดตัว “เกษตรทิพย์ฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืนกับ 6 โซนการเรียนรู้ บนพื้นที่ 11 ไร่ โดยเป็นการต่อยอดจาก Smart Community สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการฟาร์มในการถ่ายทอด องค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร ในรูปแบบ Smart Farming สู่เกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้แก่ลูกหลานและ คนในชุมชนอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงการเปิดตัว “เกษตรทิพย์ฟาร์ม” ว่า จากโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าที่มีแนวคิดที่ต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้เพิ่มด้วยการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้วิถีการทำเกษตรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปี 2554 สยามคูโบต้าได้เริ่มพัฒนาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีจุดเด่นด้านการเพาะปลูกข้าวแบบอินทรีย์ 100% และได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสยามคูโบต้าได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก พร้อมนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงโซลูชันต่างๆ เข้าไปพัฒนาโดยเฉพาะการนำระบบ KAS หรือเกษตรครบวงจร (KUBOTA (Agri) Solutions) ที่ทำให้เกษตรกรพบว่า ช่วยลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันแปรของภัยธรรมชาติ และยังส่งผลให้รายได้มากขึ้นตามมา และได้เปิดเป็น ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เกษตรทิพย์ ในปี 2557

ทั้งนี้ เส้นทางของการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า จากระยะเริ่มต้นของการพัฒนา กิจกรรมต่อเนื่องกับกลุ่มฯ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการฟาร์มและการทำเกษตรต้นแบบ มาสู่ระยะการเสริมความแข็งแกร่ง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจชุมชนต้นแบบ และสุดท้ายเป็นระยะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา SKCE FARM ในระดับภูมิภาค

สำหรับการจัดตั้งเกษตรทิพย์ฟาร์มในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงแรงผลักดันและความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เกษตรทิพย์ สู่การเป็นฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน ตามแผนการพัฒนาของสยามคูโบต้า และยังตอบโจทย์นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของสยามคูโบต้า ในการมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ตามแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ ทั้งนี้สยามคูโบต้าพร้อมอยู่เคียงข้าง คอยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาตลอดจนวางแผนการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มฯ ในการพัฒนาเกษตรทิพย์ฟาร์มอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer ยุค 5.0 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย

นายบุญมี สุระโคตร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) กล่าวว่าเกษตรทิพย์ฟาร์ม คือฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืนที่เกิดจากความตั้งใจที่จะผลักดันการทำเกษตรแบบ ดั้งเดิมไปสู่ทำเกษตรสมัยใหม่ที่ต่อยอดจาก Smart Community สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบ Smart Farming ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้แนวคิด Modern Organic Farm ที่ออกแบบและพัฒนาฟาร์มโดย บริษัท เกษตรอินโน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เอสซีจี สยามคูโบต้า และคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนเกิดความยั่งยืน รวมถึงลูกหลานคนรุ่นใหม่ของชุมชนกลับมาสานต่ออาชีพเกษตรกรรองรับแรงงานคืนถิ่น ในขณะเดียวกันก็ยังผสานกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเอาไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

ทั้งโดยพื้นที่ภายในฟาร์มมีทั้งหมด 11 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่

  1. โซน Green House หรือโรงเรือนอัจฉริยะ สามารถปลูกพืชและควบคุมผลผลิตให้ได้คุณภาพ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติตลอดทั้งปี ภายในโซนมีระบบเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มแสง รวมทั้งมีระบบการให้น้ำแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน พืชที่ปลูก ได้แก่ เมล่อน               
  2. โซนไม้ผลมูลค่าสูง เป็นการสร้างทางเลือกสำหรับการเพาะปลูกพืชและเป็นแหล่งสร้างรายได้ระยะยาว สำหรับพืชที่ปลูกภายในฟาร์ม ได้แก่ ทุเรียน อะโวคาโด โกโก้ นอกจากนี้ยังปลูกกล้วยน้ำว้าเพื่อเป็นแนวกันลม พร้อมทั้งนำนวัตกรรมระบบให้น้ำอัจฉริยะเข้ามาใช้ในพื้นที่ด้วย
  3. โซนพืชสร้างรายได้เร็ว แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พืชผักไม้เลื้อยและพืชแซมอื่นๆ อาทิ ถั่วฝักยาว บวบ ฟักเขียว และผักใบและผักสวนครัว ได้แก่ กลุ่มผักสลัด (กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด) รวมถึงหอมแดงและกระเทียมซึ่งเป็นพืชที่ได้รับมาตรฐาน GI ทั้งนี้ยังได้นำเครื่องยกร่อง และรถปลูกผักมาใช้ทดแทนแรงงาน รวมทั้งมีการนำนวัตกรรมการให้น้ำอัจฉริยะมาควบคุมระบบให้น้ำภายในแปลงด้วย
  4. โซนโซล่าเซลล์ พื้นฐานการทำเกษตรของกลุ่มเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ โดยทางกลุ่มมุ่งที่จะเป็นการเกษตรแบบ Green Energy จึงได้ติดตั้งโซล่าเซลล์แบบกระแสตรง ช่วยลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้า ทั้งจากระบบการให้น้ำ และไฟส่องสว่าง
  5. โซนแปลงข้าวตัวอย่าง มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรสยามคูโบต้ามาใช้ควบคุมคุณภาพและปริมาณตลอดกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การใช้แทรกเตอร์ในการเตรียมดิน การใช้รถดำนาในขั้นตอนปักดำ การใช้โดรนเพื่อการเกษตรในขั้นตอนของการดูแลรักษา และใช้รถเกี่ยวนวดข้าวสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสร้างรายได้เพิ่มด้วยการอัดฟางสำหรับจำหน่าย
  6. โซนพืชสมุนไพร ในปัจจุบันพืชสมุนไพรจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ตลาดมีความต้องการ ในปริมาณสูง ทางกลุ่มเล็งเห็นโอกาสในการสร้างอาชีพทางเลือก จึงได้จัดทำแปลงสมุนไพรในฟาร์ม ต่อยอดการแปรรูปเป็นอาหารและยา สมุนไพรที่ปลูก ได้แก่ ข่า ตะไคร้ กระชายดำ กระชายขาว มะนาว มะกรูด และฟ้าทะลายโจร

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ทางกลุ่มจะเพิ่มโซนโฮมสเตย์ และโซนคาเฟ่ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ที่เหมาะสมมาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีความสนใจการทำเกษตร รวมถึงจัดทำแผนหลักสูตรการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายและเหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มด้วย

เกษตรทิพย์ฟาร์ม พร้อมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการ เกษตร และนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบ Smart Farming สู่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วประเทศแล้ววันนี้ ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เปิดทุกวัน (จันทร์ – อาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. สนใจเยี่ยมชม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook : Boonmee Organic Farm เกษตรอินทรีย์ลุงบุญมี โทร. 086 322 8953

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated