นายสุรชัย รุ่งรัตนพงษ์พร ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ในโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ในโครงการฯ มี 20 ครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่เชิงพาณิชย์ในระบบปิด โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ไข่สำหรับเลี้ยงจำนวนเล้าละ 4,300 ตัว และทางโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนับสนุนพื้นที่ในการก่อสร้างฟาร์ม ปัจจุบันมีไข่ไก่ที่ออกจากฟาร์มสู่ตลาดวันละประมาณ 80,000  ฟอง

“รายได้ถือว่ามั่นคง อย่างผมลูกสาวเรียนจบปริญญาตรี  2 คน  ในการทำงานภายในฟาร์มนั้นแต่ละวันเกษตรกรจะเข้ามาในฟาร์มดูแลเล้า ประมาณช่วงตีสี่ถึงตีห้า ปัดกวาดเล้า ดูแลเรื่องน้ำดื่มไก่ ตลอดจนการให้อาหาร จากนั้นจะออกจากโรงเรือนส่งบุตรหลานไปโรงเรียน จะเข้ามาที่เล้าไก่อีกครั้งประมาณ 8 โมงเช้า เพื่อเก็บไข่รวบรวมไปไว้ที่โรงคัด และรถขนส่งไข่จะมารับไข่ไก่ ประมาณ 9 โมงเช้าเพื่อนำไปส่งโรงคัดอีกครั้ง ที่นั้นจะคัดแยกขนาดของไข่ไก่ออกมาตามเบอร์ต่างๆ ในการจำหน่ายเกษตรกรจะขายได้ในราคาประกันที่ 2.75 สตางค์ ต่อ 1 ฟอง ถือว่าคุ้มค่ากับใช้จ่ายในการเลี้ยง อย่างช่วงนี้ทางบริษัทจะเพิ่มค่าไฟฟ้าให้แก่เกษตรกร ด้วยการเพิ่มตัวไก่ให้เล้าละอีก 100 ตัว ก็เหมือนว่าเราลดต้นทุนไปได้เยอะ ช่วยค่าน้ำค่าไฟได้และคุ้มทุน เพราะปกติการเลี้ยงไก่ไข่อยู่ที่เล้าละ 4,200 ตัว มารุ่นนี้ทางบริษัทเพิ่มให้เป็น 4,300 ตัว เพิ่มอีก 100 ตัว ก็เป็นผลดีต่อเกษตรกรเพราะต้นทุนเท่าเดิมแต่ปริมาณไก่และไข่ไก่เพิ่มขึ้นทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” นายสุรชัย กล่าว

ทั้งนี้ไก่ไข่ 1 ตัวจะให้ไข่ประมาณ 300 ฟองต่อการเลี้ยง 1 รุ่น ขณะที่ค่าไฟฟ้าเท่าเดิม แต่รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และไก่ 1 รุ่นจะปลดรุ่นประมาณ 16 เดือน หากเกษตรกรมีความตั้งใจในการเลี้ยงและดูแลไก่ดี เมื่อถึงระยะปลดไก่จะมีรายได้อีกส่วนหนึ่ง รวมรายได้การเลี้ยงไก่ไข่ต่อรุ่นจะได้ประมาณ 3 – 4 แสนบาทต่อครอบครัว ขณะที่มูลไก่เกษตรกรสามารถเก็บขายได้ในราคากระสอบละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาหน้าฟาร์ม 

ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกลุ่มไก่ไข่ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนมีโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบพืชเชิงเดี่ยว ผลผลิตหรือรายได้จะไม่แน่นอน เกษตรกรจะยากจน หลังจากมีโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทางโครงการฯ ได้ส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ทำให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงอาชีพอย่างหลากหลายมากขึ้น

“สมัยก่อนลูกหลานจะไม่ค่อยได้เรียนจนจบปริญญาตรีแต่เดี่ยวนี้เกษตรกรที่ทำฟาร์มไก่ไข่จะมีเงินเพียงพอ สามารถส่งลูกหลานเรียนจนจบปริญญาตรีได้หมด ก็เป็นพระมหากรุณาที่คุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ส่งเสริมเกษตรกรจนมีอาชีพที่มั่นคง และก็ดีใจที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด เป็นพระราชปณิธาน ของพระมหากษัตริย์ สานต่องานจากรัชกาลที่ 9 ทำให้เกษตรกรมีความอุ่นใจ ที่ทุกพระองค์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนของพระองค์” นายสุรชัย กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated