กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมศุลกากร และสถาบันการศึกษา ผนึกกำลังเข้มงวดการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าประเทศไทย ย้ำไม่ติดคนและสัตว์ชนิดอื่น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างร้ายแรง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เนื่องจากในปี 2561 มีสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) มากขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการเข้มงวดและป้องกันการลักลอบนำเข้าสุกร ซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์เชียงรายได้ตรวจยึดไส้กรอกและกุนเชียงจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางจากเมืองสิบสองปันนาและเฉินตู และเมื่อเอาของกลางไปตรวจสอบ พบมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

อีกทั้งขณะนี้ใกล้จะถึงช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขยายวงกว้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้ามาสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทย กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมศุลกากร และมหาวิทยาลัย จึงได้ประชุมเพื่อบูรณาการการตรวจสอบและจับกุมการลักลอบนำเข้าสุกร ซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรให้มีประสิทธิภาพ โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำชับโดยประกาศให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของสุกรที่มาจากประเทศที่พบการระบาดของโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้ง 15 ประเทศ
  2. ด่านศุลกากรประจำสนามบินนานาชาติและช่องผ่านแดนต่างๆ ได้เข้มงวดตรวจสอบสัมภาระของนักท่องเที่ยวโดยเครื่องเอ็กซ์เรย์
  3. ภาคมหาวิทยาลัย ร่วมเฝ้าระวังโรคและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ

    รวมพลังต้านร่วมต้าน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าไทย
    รวมพลังต้านร่วมต้าน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าไทย

ท้ายที่สุดนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ย้ำว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคระบาดสัตว์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนและสัตว์ชนิดอื่น เกิดโรคได้เฉพาะในสุกรเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่มีการเกิดโรคนี้ในประเทศไทย จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคนี้จะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรงกับธุรกิจการเลี้ยงสุกรโดยจะทำให้สุกรตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคและไม่มียารักษาโรค และที่สำคัญเชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายเดือน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที มาเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้ง ในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีร่วมต้าน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าไทย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated