ธ.ก.ส. จับมือ กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หนุนสร้างชุมชนไม้มีค่าทั่วประเทศ 20,000 ชุมชน จำนวน 2.6 ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 1,000 ล้านต้น ภายใน 10 ปี พร้อมให้ความรู้ด้านพันธุ์ไม้ สร้างโรงเพาะชำเพื่อผลิตกล้าไม้ ผลักดันการปลูกต้นไม้สู่กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก สร้างฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียว และเตรียมออกสินเชื่อปลูกป่าอีกด้วย

วันนี้ (27 ธันวาคม 2561) ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการชุมชนไม้มีค่า” ระหว่าง  นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กับ นายยรรยง กางการ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้  นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยให้เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าจากการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ สร้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กำลังให้สัมภาษณ์เรื่องเตรียมการออกสินเชื่อปลูกป่า...
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กำลังให้สัมภาษณ์เรื่องเตรียมการออกสินเชื่อปลูกป่า…

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. และทั้ง 3 หน่วยงาน เป็นการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ซึ่งมีเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 2,000 ชุมชน มีประชาชนได้รับประโยชน์ 100,000 ครัวเรือน มีจำนวนต้นไม้ในประเทศเพิ่มขึ้น 40 ล้านต้นภายใน 1 ปี และจะมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อสร้างชุมชนไม้มีค่าให้ได้ 20,000 ชุมชน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 2.6 ล้านครัวเรือน และมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้น 1,040 ล้านต้น ภายใน 10 ปี โดยในส่วนของ ธ.ก.ส.มีแผนงานในการยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งจะมีการพัฒนาผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจและผู้ประเมินการกักเก็บคาร์บอนรวม 4,000 คน แผนการสนับสนุนในการกักเก็บคาร์บอนตามแนวทางโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ให้กับ 6,804 ชุมชน รวมถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าจากการนำวัตถุดิบที่ได้จากต้นไม้ เช่น กิ่ง ใบ ลำต้น มาแปรรูปไม้และสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยมีเป้าหมาย 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน มีสมาชิกธนาคารต้นไม้กว่า 6,827 ชุมชน จำนวนสมาชิก 117,461 ราย และมีต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ 11,846,190 ต้น

“การที่รัฐบาลชุดนี้ กำลังออกกฎหมายเรื่องการปลูกไม้มีค่าในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ จะทำให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงจากการประกอบอาชีพปลูกป่าเศรษฐกิจ รวมถึงแก้ไขให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ทางธ.ก.ส.อยู่ระหว่างศึกษาเกี่ยวกับสินเชื่อเพื่อการปลูกป่าระยะยาว แบบ 15 ปี ซึ่งประชาชนที่ใช้สินเชื่อนี้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการปลูกป่ามาลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงอยู่ระหว่างการหารือกับตลท. เพื่อออกพันธบัตรต้นไม้ (Tree Bond) ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อปลูกป่าในพื้นที่ที่กำหนดและได้รับผลตอบแทนจากการปลูกป่า คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในไตรมาส 1 ปี 2562” นายอภิรมย์ กล่าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. มอบพระเครื่องแก่ชาวบ้านที่ปลูกป่าจนสำเร็จได้
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. มอบพระเครื่องแก่ชาวบ้านที่ปลูกป่าจนสำเร็จได้

นายยรรยง กางการ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ความร่วมมือใน ครั้งนี้ กรมป่าไม้จะส่งเสริมการให้ความรู้ ด้านพันธุ์ไม้ การคัดเลือกพันธุ์ การเพาะพันธุ์ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างศูนย์เพาะชำ โรงเพาะชำชุมชน ในทุก ๆ จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นการรองรับการผลิตกล้าไม้ให้เพียงพอต่อความต้องการปลูกต้นไม้ตามโครงการดังกล่าว

นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มอบประกาศเกียรติคุณแก่ชาวบ้านที่ปลูกป่า...
นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มอบประกาศเกียรติคุณแก่ชาวบ้านที่ปลูกป่า…

นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) กล่าวว่า อบก. พร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านวิชาการ การศึกษาและวิจัย เพื่อการดำเนินกิจกรรมการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ ธ.ก.ส. ในการพัฒนาโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Reduction Program: T-VER) ทั้งจากกิจกรรมภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียวของภาคประชาชน ชุนชนและภาคส่วนต่าง ๆ ตามโครงการชุมชนไม้มีค่าทั่วประเทศ

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. (BEDO) กล่าวว่า สพภ. จะร่วมให้ความรู้ด้านการปลูกป่าเชิงนิเวศ การประเมินมูลค่าระบบนิเวศในพื้นที่ดำเนินการ และการจัดทำแผนที่พื้นที่สีเขียว เพื่อแสดงข้อมูลและกิจกรรมการอนุรักษ์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการปลูกต้นไม้ ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

สื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก
สื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก

>>LIVE พิธีลงนามหนุนชุมชนไม้มีค่าทั่วประเทศ 20,000 ชุมชน https://web.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2293927807344159/

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated