นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย
นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย

นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดน่านได้หาแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรที่มีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาสู่การประกอบอาชีพใหม่ กรมหม่อนไหมโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดน่าน ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรแทนการบุกรุกป่า โดยอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจเพราะมีรายได้และผลตอบแทนที่คุ้มค่าและรวดเร็ว

ทั้งนี้การดำเนินการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจังหวัดน่าน กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการส่งเสริมภายใต้การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ที่มุ่งปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ มาสู่การรวมกลุ่ม เพื่อวัตถุประสงค์ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการการผลิตรังไหม และการเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยมีบริษัทเอกชนได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องตลาดรับซื้อรังไหม โดยได้มีการทำสัญญาซื้อขายรังไหมล่วงหน้า (Contract Farming) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของเกษตรกรในจังหวัดน่าน เป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดีแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการพร้อมทั้งสร้างความมั่นใจในด้านการลงทุน

จากข้อมูลในปี 2560 มีเกษตรกรเลี้ยงไหม จำนวน 148 ราย ผลผลิต 56,736.9 กิโลกรัมรายได้ 8,816,584.30 บาท รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเป็นเงิน 59,571 บาท ต่อรายต่อปี  เกษตรกรมีรายได้สูงสุดถึง 235,282 บาทต่อปี อย่างไรก็ตามด้วยผลผลิตรังไหมของจังหวัดน่านยังไม่เพียงพอกับความต้องการของบริษัทเอกชน ซึ่งมีความต้องการปีละ 200 ตัน กรมหม่อนไหมจึงได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2561 เพิ่มขึ้น โดยเน้นไปที่การเลี้ยงไหมเพื่อขายรังให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 159 ราย ทำให้ปัจจุบันจังหวัดน่านมีเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 307 ราย ในปี 2561 มีการซื้อขายรังไหมไปแล้วจำนวน 4 รุ่น ผลผลิตรังไหม 34.5 ตัน คาดการผลผลิตรังไหม ปี 61 จะผลิตได้ประมาณ 70 ตัน เป็นเงิน 11,200,000 บาท

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated