นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมสถาบันชาวนาไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 หลังทำการจดทะเบียนจัดตั้ง“สมาคมสถาบันชาวนาไทย” เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ว่า ในอดีตที่ผ่านมาทุกคนทราบดีว่าองค์กรชาวนาเป็นองค์กรที่ขาดเอกภาพที่สุด นายกรัฐมนตรีได้เอ่ยปากเรื่องชาวนาควรรวมตัวกันให้เป็นเอกภาพ เพื่อการทำข้อเสนอถึงรัฐบาลจะได้มีน้ำหนักและมีพลัง สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นองค์กรหลักของเกษตรกรจึงทำหน้าที่รวมพลังชาวนา จนปัจจุบันได้มีการรวมตัวกันของชาวนาจดทะเบียนจัดตั้ง “สมาคมสถาบันชาวนาไทย” เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสมาคมฯจะทำหน้าที่เป็นข้อต่อเชื่อมกับส่วนงานต่างๆ รวบรวมความคิดของชาวนาในทุกภูมิภาคเพื่อนำเสนอในเชิงนโยบายถึงรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาชาวนาให้เบ็ดเสร็จและยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาอาชีพทั้งในด้านการเพิ่มคุณภาพผลผลิต การลดต้นทุนด้วยวิธีผสมผสาน พัฒนาเป็นผู้ประกอบการ จัดช่องทางจำหน่าย ซึ่งมณฑลซานตงประเทศจีนได้สั่งออร์เดอร์แรกเป็นข้าวหอมมะลิเกรด A 100 ตัน โดยได้รวบรวมจากชาวนาที่พร้อม เป็นข้าวคุณภาพดีได้ GAP เป็นการนำร่องก่อน หลังจากนี้สมาคมฯจะผลักดันจัดส่งข้าวของชาวนาไปถึงมือผู้บริโภคที่ประเทศจีนด้วยจำนวนให้มากขึ้น ทั้งนี้ สมาคมสถาบันชาวนาไทย ประกอบด้วยสมาชิก 3 ประเภทคือ 1.สมาชิกประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ 2.สมาชิกประเภทเป็นองค์กร 3.สมาชิกประเภทชาวนาทั่วไป

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

“อยากเห็นชาวนาไทยลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเอง ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง เพื่อที่จะวางแนวทางการผลิตใหม่ ให้เป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง ให้เป็นข้าวที่ปลอดภัย ให้เป็นข้าวที่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำลง เช่น การจัดทำศูนย์เครื่องจักรกลเกษตรในชุมชนตัวเอง โดยรัฐอุดหนุนให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำด้วยเราไม่ต้องการเงินฟรี หากชาวนารวมตัวกันเป็นวิสาหกิจแปรรูปเอง ทำแพคเกจจิ้งเอง ส่งออกเอง ชาวนาก็จะมีรายได้ที่สูงมากขึ้น คนกลางก็ลดน้อยลง ชาวนาแต่ละจังหวัดแต่ละภาคควรจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาและวางยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน ไม่ควรเป็นยุทธศาสตร์แท่งเดียวอย่างปัจจุบัน  ชาวนาทุกคนจะต้องมีข้าวของตัวเอง มีแนวทางในการปลูกและการทำตลาดของตัวเอง หากแยกยุทธศาสตร์ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ข้าวที่หลากหลาย ตลาดก็มีความหลากหลายมากขึ้นจะไม่เสี่ยงเหมือนปัจจุบันที่มีตลาดแคบ มีข้าวอยู่ 2-3 สายพันธุ์เท่านั้น การผลิตควรมีการปรับตัว หาความรู้เพิ่มเติม ชาวนาที่จะเอาตัวรอดได้ส่วนใหญ่ก็จากการทำเกษตรผสมผสาน ไม่ทำนาอย่างเดียว ไม่ปลูกพืชไร่อย่างเดียว เพราะไม่พอกินและเก็บ ปรับปรุงพื้นที่ของท่านการมีกิจกรรมที่หลากหลายจะมีรายได้เข้ามาทุกเดือนท่านก็สามารถแบ่งเบาภาระและสามารถที่จะยังชีพได้อย่างมีความสุข” นายประพัฒน์กล่าว

ภาพการประชุม
บรรยากาศการประชุม นัดแรก

อย่างไรก็ตาม “สมาคมสถาบันชาวนาไทย”ได้ทำหนังสือแจ้งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องและขอพาคณะกรรมการฯเข้าพบเพื่อแนะนำตัวและชี้แจงถึงแนวทางในการทำงานร่วมกับภาคราชการต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated