รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการขับเคลื่อน “วิจัยกินได้” เน้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการจุดแข็งของหน่วยงานเครือข่าย ให้การวิจัยเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงแก้ปัญหาสำคัญของแต่ละพื้นที่ มีการทำงานร่วมกับชุมชน และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องใช้งานได้จริง ตรงกับความต้องการ และต้องนำความรู้เรื่องนั้น ๆ มาขยายผลต่อไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล) และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่บุคลากร วช. โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ในวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 13.00 น.

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงภายหลังการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่บุคลากร วช. ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการนำ “งานวิจัย” มาเป็นอีกกลไกสำคัญที่ใช้สร้างโอกาสและผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยในระยะเร่งด่วนจะร่วมผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดทำขึ้นต่อท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ทำหน้าที่

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล , ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เดินเยี่ยมชมสินค้า
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล , ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เดินเยี่ยมชมสินค้า

1. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ หรือเป็น “เสนาธิการ” ทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ บูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมมีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน การดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

2. เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่หน่วยกำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “วิจัยกินได้” ของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ “จะเป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนต้องการและอยากได้ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนและสังคมทั่วประเทศไทยต่อไป” โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการเรื่อง “การขยายผล ธนาคารปูม้า” ไปแล้ว และยังมีอีกหลายโครงการที่เร่งรัดขับเคลื่อนต่อไป เช่น การกำจัดผักตบชวา การแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล , ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ร่วมถ่ายรูป
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล , ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ร่วมถ่ายรูป

3. ทำหน้าที่ประสาน กำกับ และติดตามการบริหารจัดการงบประมาณรูปแบบใหม่กับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดให้มีงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแบบมุ่งเป้า ท้าทายไทย เกิดประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และมอบหมายให้ วช. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดรับ “โจทย์ปัญหาใกล้ตัวของประชาชนไทย” เพื่อกำหนดเป็นโจทย์โครงการ “ท้าทายไทย” คัดเลือกโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด และพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยวิชาการ ให้เป็น Excellent Center ของประเทศต่อไป

4. การจัดทำฐานข้อมูลสำหรับระบบวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากร งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2561 วช. วางแนวทางในขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล 3 แนวทาง คือ 1) การบูรณาการเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2) การใช้องค์ความรู้จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 3) การบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของการทำงาน โดยในโครงการ “ปั้นดาว” ภายใต้แนวคิด “วิจัยกินได้” วช.และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีความเข้มแข็งในเชิงการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน การสนับสนุนการขยายสเกลการผลิตสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกแผนงานจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแบบมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนตามประเด็นยุทธศาสตร์และตามรายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าผลสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated