"อาชีพปลูกไม้เศรษฐกิจช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีที่สุด"นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

เรียบเรียง : เบียร์ เกษตรก้าวไกล

คณะผู้ร่วมสัมนา “วันไม้เศรษฐกิจไทย 2561
คณะผู้ร่วมสัมนา “วันไม้เศรษฐกิจไทย 2561″

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนา “วันไม้เศรษฐกิจไทย 2561 อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน ณ ห้องประชุมจงรักปรีชานนท์ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ อันจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคการผลิต แปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป่าไม้ทั้งระบบ อันก่อนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนผู้ประกอบการ ภาคการตลาดและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับไม้เศรษฐกิจของประเทศไทย

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม่เศรษฐกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่ปี 2561 – 2579 ดำเนิน 7 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดเตรียมพื้นที่รองรับการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนามาตรการทางการคลัง การเงิน และระบบตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และผู้ประกอบการไม้เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรมไม้เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารงานเพื่อส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาระบบการรับรองป่าไม้ รวมแล้ว 22 แผนงาน 69 โครงการ

ทั้งนี้ในเรื่องการส่งเสริมเกษตรกร จะเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ หรือเกษตรกรที่ทำแล้วได้ผลดี เพื่อนำไปขยายผล รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ความเป็นมือชีพขึ้นมาให้ได้ พร้อมยืนยันว่า จะแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยความจริงใจ

อาชีพปลูกไม้เศรษฐกิจจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีที่สุด ถึงแม้เกษตรกรจะได้กำไรไม่มากนัก แต่สิ่งที่ประเทศไทยจะได้กลับมามันมหาศาล

พิธีลงนามการสนับสนุนกิจกรรมธนาคารต้นไม้ กิจกรรมซื้อ-ขายคาร์บอน
พิธีลงนามการสนับสนุนกิจกรรมธนาคารต้นไม้ กิจกรรมซื้อ-ขายคาร์บอน

และจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและความผันผวนของสินค้าเกษตร และผลผลิตที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการไม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน ประเทศไทยต้องนำเข้าไม้มาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่านับแสนล้านบาท นโยบายด้านพลังงานทดแทนมุ่งเน้นมาใช้พลังงานจากไม้มากขึ้นทดแทนถ่านหินและน้ำมัน อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง ไม้ประกอบ มีแนวโน้มที่เจริญเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่มีความต้องการให้มีการเปลี่ยนพื้นที่นาไปเป็นพืชชนิดอื่น ๆ การเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาเป็นไม้เศรษฐกิจนั้นจึงเป็นแนวทางหนึ่ง ที่นอกจากจะลดพื้นที่ปลูกข้าวแล้วยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยด้วย

ประเทศไทยมีพื้นที่บางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว ควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นพืชเกษตรอื่น พืชชนิดหนึ่ง คือ “ไม้เศรษฐกิจ” โดยเฉพาะ “ไม้โตเร็ว” ซึ่งพบว่ามีความต้องการของตลาดอีกเป็นจำนวนมาก และหากได้นำระบบการรับรองด้านป่าไม้ (Forest Certification) เข้ามาใช้ และความต้องการใช้ไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนถ่านหินทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดประเทศญี่ปุ่น และมีเงื่อนไขว่าก้อนพลังงานเชื้อเพลิงจากไม้ (Wood Pellet) นั้นต้องได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามแนวทางมาตรฐานในระดับสากล

บรรยากาศผู้ร่วมสัมนา
บรรยากาศผู้ร่วมสัมนา

จากแนวโน้มความต้องการไม้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่นำมาใช้ทำแทนถ่านหินและน้ำมัน ประมาณการความต้องการและมูลค่าทางด้านการตลาดภายในปี พ.ศ. 2579 ดังนี้

(1) กลุ่มธุรกิจโรงเลื่อยและไม้ยางพารา มูลค่า 70,000 ล้านบาท/ปี (2) กลุ่มผู้ผลิตกล้าไม้โตเร็ว มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี (3) กลุ่มผู้ผลิตไม้สับ (Wood Chip) เพื่อการส่งออก/ในประเทศ มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี (4) กลุ่มผู้ประกอบการไม้ประกอบ มูลค่าประมาณ 50,000ล้านบาท/ต่อปี (5) ธุรกิจอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก (Toy, Game, Frame) ไม้เพื่อการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ (Packaging and Handling material ) ประกอบด้วย ไม้รองยก (Pallet) กล่องสินค้าและลังเครื่องจักร (Boxes and Crates) มูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท/ปี (6) กลุ่มผู้ผลิตไม้เพื่อการก่อสร้าง  ประมาณ 17,000 ล้านบาท/ปี (7) กลุ่มไม้เพื่อพลังงานในประเทศและต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท/ปี

จะเห็นได้ว่า “อุตสาหกรรมป่าไม้เศรษฐกิจ” จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะนำประเทศไทยไปสู่การหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง “Middle Income Trap” อุตสาหกรรมด้านไม้เศรษฐกิจ จึงน่าจะเป็นภาคการเกษตรที่ควรได้รับการส่งเสริม สนับสนุนต่อยอดทั้งระบบภายใต้ระบบการจัดการอย่างยั่งยืน ภายใต้ Thailand 4.0

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated