ก.เกษตรฯ ชูโมเดล
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เปิดงาน "เอามื้อจอบแรกที่น่าน"

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำ 13 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาประสบภาวะวิกฤติอย่างหนัก จากการถูกบุกรุกทำลายครอบคลุมพื้นที่กว่า 8.6 ล้านไร่และมีราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่บุกรุกกว่า 800,000 รายจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจากการบุกรุกทำลายพื้นที่ต้นน้ำก่อให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลน อีกทั้งพบว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดปัญหาการไหลเปื้อนของสารเคมีจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงสู่พื้นที่ราบ

ล่าสุด นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปในจังหวัดน่าน เพื่อเปิดงาน “เอามื้อจอบแรกที่น่าน” เป็นโมเดลนำร่องในการหยุดยั้งพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 4 ล้านไร่ในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคเหนือ ตามยุทธ์ศาสตร์ฟื้นป่าต้นน้ำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก้ปัญหาเขาหัวโล้นตามศาสตร์พระราชาโดยมีภาคีเครือข่ายและแกนนำชาวบ้านที่มีความสนใจจะปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เข้าร่วมกว่า 600 คน ณ. ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย จ.น่าน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดน่านและพื้นที่ภาคเหนือในหลายจังหวัด คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 จึงได้มีมติเรื่องแนวทางการจัดการป่าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) โดยใช้ 3 แนวทางในการกอบกู้วิกฤติการณ์ดังกล่าว คือ 1) การควบคุมดูแลพื้นที่ 2) การดูแลคน และ 3) การพัฒนาด้านการเกษตร ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การบูรณาการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน(เขาหัวโล้น)” โดยวางเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพที่สูงชันอย่างยั่งยืนและวางเป้าหมายในการดำเนินการ 4 ด้าน คือ 1) ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 20 ปี 2) พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่สูงให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ 3) เร่งสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ4) ลดมูลค่าความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้สำเร็จตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด

นายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะนำแนวทางศาสตร์พระราชาในการกอบกู้วิกฤติดังกล่าวโดยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและชาวบ้านในชุมชน ในการอาสาลงแรงจับจอบสร้างระบบน้ำในพื้นที่เขาหัวโล้นตามหลักการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำ ซึ่งระบบดังกล่าวเกษตรกรหลายพื้นที่ได้นำไปทำแล้วพบว่าประสบผลสำเร็จ สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อย 3 เท่า สามารถปลูกพืชผักสร้างพอมี พอกินในครัวเรือน และประสานภาคเอกชน ยกระดับมาตรฐาน พัฒนาเป็นสินค้าชุมชนจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด สามารถลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว คืนผืนป่ากลับมาได้เนื่องจากใช้พื้นที่น้อยลง เพราะมีการกักเก็บน้ำตามศาสตร์พระราชาที่ประยุกต์ให้เหมาะสมกับภูมิสังคมจังหวัดน่าน จำเป็นต้องเร่งทำรูปธรรมความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่าง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อาสาลงแรงร่วมชาวบ้านในชุมชน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อาสาลงแรงร่วมชาวบ้านในชุมชน

ปัจจุบันเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดน่านยกมืออาสาเข้าร่วมโครงการกว่า 108 แปลงใน 15 อำเภอ โดยมีจังหวัดน่านหนุนเสริมภาคประชาสังคม ตลอดจนมีแผนที่จะนำโมเดลนี้จะขยายผลการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น สภาพดินเสื่อมโทรม ป้องกันหน้าดินถูกชะล้างทั่วประเทศ     โดยครั้งที่สองจะนำโมเดลนี้ไปใช้ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีกลไกทุกจากภาคส่วนมาทำให้เกิดผลจริง

เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดน่านยกมืออาสาเข้าร่วมโครงการกว่า 108 แปลงใน 15 อำเภอ
เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดน่านยกมืออาสาเข้าร่วมโครงการกว่า 108 แปลงใน 15 อำเภอ

ที่ผ่านมาชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามกระแสโลก ถูกชักชวนปลูกข้าวโพด เพื่อลูกมีกิน แต่มีหนี้สินเพิ่ม ป่าหาย ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ผิด ต้องใช้แนวทางพลังสามัคคี ในพื้นที่มีความร่วมมือรูปแบบประชารัฐ แนวทางพระเจ้าอยู่หัว ทำแบบคนจน ลงแขกกัน จอบแรก จะเกิดจอบต่อไป ป่าอยู่รอด คนอยู่รอด ทุกจังหวัดขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมจะใช้เวลา 3 วันต่อสัปดาห์ไปทำทุกพื้นที่ วางฐานรากประเทศให้รัฐบาลต่อไปให้ได้ นายวิวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์ไพโรจน์  เฮงแสงชัย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ในส่วนของกรมหม่อนไหมได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนปลูกหม่อนเป็นอาชีพเพื่อสร้างได้ในครอบครัว ซึ่งขณะนี้กรมกำลังของบประมาณ 30 ล้านในการนำมาส่งเสริมเกษตรกร 800 ราย ในพื้นที่ 2.4 พันไร่ แบ่งเป็นพื้นที่น่าน 200 รายและพื้นที่ภาคเหนือข้างเคียงอีก 600 ราย โดยเน้นปลูกในพื้นที่ข้าวโพดเดิมที่ไม่ลาดชันอยู่ในต้นน้ำ 3 – 4 ขั้น รวมทั้งได้วางแผนการตลาดโดยได้ประสานงานกับบริษัท ขอนแก่น สาวไหม จำกัดเข้ามาทำตลาดในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ไว้แล้วด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ มีความต้องการผลผลิตจำนวนมาก โดยวางเป้าในน่านไว้ที่ 120 ตัน ซึ่งหากประสบความสำเร็จในพื้นที่น่านก็เตรียมนำไปขยายผลในพื้นที่ภาคเหนืออื่นๆต่อไปโดยวางเป้าขยายพื้นที่ปลูกต่อไปในจังหวัดน่านและอื่นให้ได้ 1.5 พันไร่

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินส่งทีมหมอดินเข้าไปให้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดินอย่างถูกหลักวิชาการแก่คนในชุมชนเผื่อลดปัญหาดินเสื่อมโทรมให้เกษตรกรและช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการเพาะปลูก เป็นที่ทราบว่าพื้นที่ภาคเหนือมีการชะล้างพังทลายสูง เพราะว่าเกษตรกรทำการเกษตรอย่างผิดวิธีพอผิดวิธีแล้วมันก็จะสร้างปัญหาทำให้ห้วยหนองคลองบึงตื้นเขินมากขึ้นแล้วก็ทำให้สภาพหน้าดินชะล้างมากขึ้นการทำการเกษตรก็จะผิดวิธีแล้วก็จะทำให้ธาตุอาหารหมดไปดังนั้นหากมีความลาดชันมากกรมก็จะจัดการรักษาน้ำ 2 ระบบ  คือวิธีกลกับวิธีพืช โดยจะนำวิธีกลแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก เช่นทำคันคูรับน้ำทำคันดินเพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้กับสภาพพื้นที่     ส่วนพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อยก็เลือกใช้วิธีระบบพืช โดยการปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

ทั้งหมดคือการบูรณการครั้งสำคัญของหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ในการพลิกฟื้นวิกฤติเขาหัวโล้นและป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพจากการบุกรุกทำลายในพื้นที่จังหวัดน่านและ 13 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือให้กลับคืนสมบูรณ์เหมือนเดิม

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated