เปิดตำรา “ปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช” ฉบับซีพี-โดลฯ...ทำตามได้?
สื่อมวลชนเกษตร บุกแปลงปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ของเครือซีพี และโดลเอเซีย ที่พนัสนิคม เมื่อเร็วๆนี้

ตามที่ “เกษตรก้าวไกล” ได้รายงานข่าวเรื่อง การส่งเสริมปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช 6 หมื่นไร่ ของเครือซีพีที่จับมือกับบริษัทโดล เอเชีย (https://goo.gl/vNVDMJ) ไปแล้วนั้น…วันนี้ขอหยิบยกมาเฉพาะประเด็นการปลูกเพียงอย่างเดียว

เพราะว่ามีเคล็ดลับที่เป็นแบบฉบับ ที่น่าจะนำมาปรับใช้กับผู้ปลูกกล้วยหอมเขียวทั่วไป หรืออย่างน้อยก็จะได้เรียนรู้ว่าวิธีของเขากับของเราเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

คุณสายันต์ สื่อหล้า นักวิชาการฝ่ายผลิตฯ
คุณสายันต์ สื่อหล้า นักวิชาการฝ่ายผลิตฯ

โดย คุณสายันต์ สื่อหล้า นักวิชาการฝ่ายผลิตฯ ที่ดูแลการผลิตกล้วยหอมเขียวในแปลงทดลองของซีพี-โดลฯ ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จะมาเป็นผู้บอกเล่าให้ฟังผ่านทางคณะผู้สื่อข่าวเกษตรจากสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ ซึ่งได้มาเยี่ยมชมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

คุณสายันต์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแปลงทดลองตั้งแต่ปลูกครั้งแรกสามารถตัดส่งให้กับ โดลฯ เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งทางบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บเกี่ยวนานถึง 20 ปี การปลูกจะใช้หน่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากทาง โดล เอเชีย ส่งให้ นำมาชำในถุงดำที่ใส่ขุยมะพร้าวคลุกกับปุ๋ยคอก (มูลวัว) อัตรา 5:1 เพาะเลี้ยงไว้ 2 เดือน แล้วจึงนำมาลงปลูกในแปลงที่ยกร่องแบบหลังเต่า ขุดหลุมปลูก 40×40 ซม. พร้อมรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ 2 กก. ปลูกระยะห่างต่อต้น 2 เมตร x ระหว่างแถว 2.5 เมตร (300 ต้น/ไร่)

ประมาณ 4 เดือนจากปลูกลงดิน กล้วยหอมเขียว “คาเวนดิช” จะแทงปลีและมีหวีครบสุดปลีใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน ถ้าหวีสุดท้ายมีลักษณะเล็ก-ลีบ จะไว้เพียงแค่หวีที่สมบูรณ์ โดยการหักปลีและหวีที่เล็ก-ลีบ ทิ้ง เหลือไว้เพียง 1 ลูก หรือที่เรียกว่า “ลูกฮีโร่” เพื่อเป็นการ์ดป้องกันไม่ให้ก้านด้านล่างเหี่ยวแห้ง ไส้เน่าลามถึงหวีที่ต้องการ และช่วยดึงน้ำเลี้ยงและอาหารลงไปเลี้ยงถึงหวีสุดท้ายด้วย ตลอดจนมีการทยอยเด็ดเกสรทิ้งไม่ให้ทิ่มผิวลูกเป็นแผล โดยอาจใช้หนังสือพิมพ์หรือใบกล้วยรองหวีด้านล่างไว้เพื่อป้องกันยางจากเกสรหวีบนหยดใส่หวีล่าง จากนั้นห่อหวีด้วยถุงพลาสติกคลุมหวีชั้นบนไว้ 1 ชั้น เพื่อไม่ให้หวีล่างทิ่มหวีบนเป็นรอยดำ และคลุมพลาสติกที่มีรูระบายทั้งเครืออีก 1 ชั้น จนถึงวันเก็บเกี่ยว เสร็จแล้วผูกริบบิ้นไว้เป็นสัญลักษณ์สำหรับเข้าตัดเครือตามสีของริบบิ้น การทำงานจะง่ายขึ้น

จากนั้นรดน้ำเว้นวัน ในช่วงฤดูแล้งปริมาณ 40 ลิตร/ชั่วโมง ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ ส่วนฤดูฝนดูตามสภาพดิน การให้ปุ๋ยจะหว่านเป็นรูปเกือกม้าเฉพาะหน่อที่เลี้ยงไว้เก็บเครือเท่านั้น ไม่หว่านรอบกอ และให้เพียงเดือนละครั้ง คือ เดือนที่ 1-3 ให้ปุ๋ยสูตร 18-46-0 อัตรา 40-50 กรัม/ต้น และปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 50 กรัม/ต้น ให้ทุกเดือน และสูตร 46-0-0 ให้ 7 เดือนแรก พร้อมกับใส่มูลไก่อัดเม็ดปีละครั้ง วนแบบนี้ไปตลอดทุกปี รวมถึงมีการฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟ (ไดเมโทเอต 60 ซีซี) เมื่อกล้วยแทงปลีเพื่อไม่ให้เข้าทำลายช่วงลูกเล็ก หลังจากเริ่มปลูกลงดิน ที่นี่จะเริ่มไว้หน่อลูกอีก 1 หน่อ ส่วนหน่อที่เหลือถ้าขึ้นมาจะปาดทิ้งหมด จนเมื่อตัดเครือแม่ไปแล้วให้เริ่มไว้หน่อหลานต่อ โดยให้เลือกหน่อที่ใหญ่ สมบูรณ์ และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชนกันเมื่อเครือออกมา พยายามให้อยู่ในละแวกกอเดียวกัน หากออกไปด้านข้างมากจะไปชนกับกออื่น อีกทั้งจะทำให้ระบบน้ำไปไม่ถึงด้วย กระทั่งครบ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) หลังจากแทงปลีแล้ว สามารถเก็บเกี่ยวรอบแรกได้ หรือวัดจาก 3 ลูกกลางหวีที่ 2 จากด้านบน ถ้ามีขนาด 45 มิลลิเมตร ความสุกประมาณ 85% สามารถตัดเครือนั้นได้เลย และอีกไม่เกิน 5 เดือนจะตัดได้อีก เสร็จแล้วตัดเป็นหวี นับ แพ็กใส่ตะกร้านำขึ้นรถห้องเย็นของทางบริษัทโดลเอเชียที่มารอรับอยู่แล้ว

กล้วยกำลังออกหวีสุดเครือ
กล้วยกำลังออกหวีสุดเครือ

สำหรับท่านใดสนใจรายละเอียดการลงทุนปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช สมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ จะจัดสัมมนา “กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสัมมนาได้ที่ 086-378-2971…ก็ต้องบอกกับเลยว่าข้อมูลในการตัดสินใจปลูกสำคัญที่สุด!

หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก www.nakaintermedia.com –ขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated