“กุ้งก้ามแดง” จะไปทางไหน...10 คำถามมีคำตอบ กับ “นายกป้ายแดง” ประทีป มายิ้ม
คุณประทีป มายิ้ม จะยิ้มได้แค่ไหนเมื่อมารับตำแหน่งนายกสมาคมการค้ากุ้งก้ามแดง...

หมายเหตุ-เกษตรก้าวไกล :  การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเป็นกระแสที่มาแรง และได้มีการรวมตัวกันเป็น “สมาคมการค้ากุ้งก้ามแดง” จัดตั้งเมื่อวันที่ ๘ ต.ค. ๕๘ โดยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงทั่วประเทศ มีสมาชิกกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด กว่า๕-๖หมื่นคน สมาคมมีนายกมาแล้ว ๒คน คือคนที่ ๑ อ.ไชยยงค์ ฮาราช คนที่ ๒ คือคุณอำนาจ ยาสา ส่วนนายกคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ ๒๘ พ.ย. ๕๙  คือคุณประทีป มายิ้ม จะมีวาระตำแหน่งตามระยะเวลาที่เหลือของ ๒นายกที่ผ่านมา คือถึง ๘ ต.ค. ๖๐ และทันทีที่คุณประทีป เข้ามารับตำแหน่งก็มีคำถามต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงจะพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนได้หรือไม่ รวมทั้งแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ว่าจะนำพาสมาคมไปทิศทางใด ดังนี้

คุณประทีป มายิ้ม รับไม้ต่อจากคุณอำนาจ ยาสา ท่ามกลางเหล่าสมาชิกกุ้งก้ามแดง....
คุณประทีป มายิ้ม รับไม้ต่อจากคุณอำนาจ ยาสา ท่ามกลางเหล่าสมาชิกกุ้งก้ามแดง….
  1. สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในปัจจุบันได้เดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว ได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากน้อยเพียงใด?

ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง กำลังได้รับความนิยม กันอย่างแพร่หลายสูงสุด กระจายไปทั่วประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม  AEC เช่น เขมร พม่า ลาว เวียดนาม มาเลย์เซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ โดยเฉพาะประเทศไทยถือว่าประชาชนให้ความสนใจ ตื่นตัว ทำการเพาะเลี้ยงกันกว้างขวางมากกระจายไปทุกกลุ่ม อาชีพ ชนชั้น ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

  1. ปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ได้รับการแก้ไขมากน้อยเพียงใด?

ที่ผ่านมากุ้งก้ามแดงเคยได้รับความนิยมสูงสุดมาแล้วแต่ถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มแคบๆ (เลี้ยงเป็นกุ้งสวยงาม ซึ่งมีราคา ซื้อ ขาย ที่แพงมาก จนกระทั่ง ประชาชน หรือเกษตรกรไม่สามารถจับต้องได้แท้จริง)เพียงไม่กี่กลุ่ม ปัจจุบันได้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ในหลากหลายรูปแบบการเพาะเลี้ยงที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล จนกระทั่งเกษตรกร ที่ทำการเพาะเลี้ยง ประยุกต์ พัฒนา ต่อยอด ปรับเปลี่ยน เพื่อให้สะดวกสบายง่ายขึ้น สามารถ เลี้ยงได้ทุกๆที่ของประเทศ (คอนโด ทาวเฮ้าส์ ห้องแถว โอ่ง อ่าง กาละมัง กระถาง วงบ่อปูน ลิ้นชักตู้ บ่อปูน ฟิวเจอร์บอร์ด นาข้าวอินทรีย์ แปลงนาข้าวจำลองชีววิถี ฯลฯ) ทำให้ ๑ปีที่ผ่านมากุ้งก้ามแดงสามารถลงไปสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงทุกๆระดับได้แล้วด้วยการเพาะเลี้ยงด้วยตนเอง (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) คาดการณ์ว่า ปัญหาต่างๆที่ผ่านมา ได้คลี่คลายลง อนาคตอาจได้เกิดกุ้งเนื้อเพื่อการบริโภค อย่างแท้จริง ในตลาดบริโภคทั่วไป (มิใช่ตลาดพ่อ แม่พันธุ์ ที่มีการปั่นกระแส ราคา จากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนหรือพ่อค้าคนกลาง ที่เข้ามาปั่นเพื่อทำกำไรระยะสั้นๆ แล้วก็จากไป)

  1. ตามที่กรมประมงได้กำหนดให้ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงเป็นการค้าจะต้องไปขึ้นทะเบียนไม่ทราบว่ากรณีนี้เป็นปัญหาอุสรรคอะไรหรือไม่?

โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผมมีความคิดว่า ดีมากๆที่กรมประมงสามารถผ่อนปรนลงมาจนกระทั่งให้เกษตรกรทั่วประเทศไทยได้เพาะเลี้ยง และมีไว้ในครอบครอง ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายประมง เหมือนดั่งเช่น สัตว์เศรษฐกิจ ตัวอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยกลั่นกรองคัดแยกผู้ที่เข้ามาเพื่อกระแสราคา พ่อค้าคนกลาง ได้อีกทางหนึ่ง (ผู้ที่ไม่ได้เพาะเลี้ยงอย่างแท้จริง ถือว่าผิดกฏหมาย ถ้าไม่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมประมง https://goo.gl/tPYAbw ) อีกทั้งต่อไปนี้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยง และขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายจะได้พัฒนาฟาร์มของตนเอง และพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มต่างๆทุกระดับเพื่อการซื้อขาย ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายอย่างแท้จริง กระทั่งเกษตรกรได้สามารถ ประกอบเป็นอาชีพได้อีกอาชีพ ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละท้องที่จะได้ย้อนกลับคืนมาอีกด้วย (เพราะกุ้งก้ามแดงแพ้สารเคมีทุกๆชนิด ถ้ามีกุ้งก้ามแดงอยู่ที่ใด แสดงให้เห็นว่าท้องที่ต้องปราศจากสารเคมี)

  1. อยากจะให้กรมประมงหรือทางราชการให้การส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างไรบ้าง?

ถ้าเป็นไปได้อยากขอให้กรมประมงผ่อนคลายกฏระเบียบที่เข้มงวดต่างๆที่มากเกินไป เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางเหมือนสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆทั่วไป (ปลานิล กุ้งขาวแวร์นาไมท์ ฯลฯ) เพื่อประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้มีอาหารเลิศรส โดยมิต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ลดภาวะขาดดุลการค้า แต่เป็นการเพิ่มอาชีพ รายได้ ให้กับประชาชนไทย อีกทั้งยังเป็นอาหารชั้นดีในครัวเรือนเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคกันเอง เหลือจากการบริโภค สามารถจัดจำหน่าย จ่ายแจก ได้อย่างดี เพราะกุ้งก้ามแดงเป็นสัตว์ที่ “บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตของผู้เลี้ยง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพราะว่าถ้ามีกุ้งก้ามแดงอยู่ที่ใด ต้องปราศจากการปนเปื้อนสารเคมี ถ้ามีกุ้งก้ามแดงอยู่ทั่วประเทศไทยย่อมแสดงว่า ประเทศเรา ลดการใช้ การปนเปื้อนสารสารเคมี ที่ไม่พึงประสงค์ ย่อมหมายถึงคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของคนไทย มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

คุณประทีป ยิ้มอย่างสบายใจกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงแบบชีววิถี...
คุณประทีป ยิ้มอย่างสบายใจกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงแบบชีววิถี…
  1. ที่มีข่าวว่าเลี้ยงกุ้งก้ามแดงปลดหนี้ได้หรือรวยเงินล้าน ข้อเท็จจริงรวยจริงหรือไม่ รวยจากการขายพ่อแม่พันธุ์หรือลูกพันธุ์ใช่ไหม?

ใช่ครับ ปลดหนี้ได้จริงกับหลายๆราย สามารถปลดหนี้สินที่ท่วมตัว สะสม คั่งค้าง มาในอดีตของตนเองและครอบครัวได้ จากการเพาะเลี้ยง และจัดจำหน่าย พ่อ แม่พันธุ์ ลูกพันธุ์ หลายๆรายสามารถสร้างรายได้เป็นแสนเป็นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครเข้ามา “ทำก่อนย่อมได้ก่อน” ที่ใครเข้ามาในยุคต้นๆของกระแสที่รุนแรงย่อมได้เปรียบเสมอๆ แต่ก็น่าเป็นห่วงกังวลสำหรับผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงรายใหม่ๆมักจะขาดความระงับ ยับยั้ง ความคิดที่รอบคอบ อาจตกเป็นเหยื่อหรือกระแส กับกลุ่มมิจฉาชีพ ที่จ้องคอยฉกฉวยโอกาส ในรูปแบบต่างๆมากมาย

ข้อคิดครับ “ถ้าเริ่มต้นจาก อดและทน จะรุ่งเรือง ยั่งยืน มั่นคง ยาวนานในอนาคต แต่ถ้าใครเริ่มต้นที่ความรวย มักจะซวยในอนาคต จะตกเป็นเหยื่อกับพวกมิจฉาชีพ ฉกฉวยโอกาส และต้องลงทุนมากมายเพื่อให้ได้ผลประกอบการที่ได้กำไร สุดท้ายอาจเป็นหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นจากความอยากรวย ตามคำกล่าวที่ว่า “กุ้งกินได้ทุกๆสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ แบ๊งค์พัน บ้าน รถ โฉนดที่ดิน กุ้งกินเกลี้ยง เหลือไว้เพียงหนี้สินท่วมหัว”

  1. เท่าที่ทราบเวลานี้มีการซื้อ-ขายพันธุ์กุ้งก้ามแดงกันมาก กลัวว่าจะมีการปั่นราคาหรือทำให้ตลาดเสียหรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไร?

ที่ผ่านมีการปั่นราคากันพอสมควร ทำให้ตลาดเสีย ความมั่นคงและยั่งยืนไม่มี มีเพียงแค่กระแสเท่านั้น การแก้ไขปัญหา ต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงที่ต้องการความมั่นคงและความยั่งยืน หันมาร่วมมือกันสร้างกลุ่มที่มั่นคงและเข้มแข็ง มีการตั้งราคากันในกลุ่มเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ โดยอิงกับราคาปลายทาง มีการแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจน มีความสามัคคีกันในกลุ่ม เมื่อเกิดปัญหาให้รีบปรึกษาพูดคุยกันเพื่อหาวิธีแก้ไขและป้องกัน ให้ทุกคนมองถึงความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ฉาบฉวย เพียงเท่านี้ความมั่นคงและความยั่งยืนก็คงอยู่ไม่ไกลเกินไป

  1. หากจะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเป็นอาชีพมีคำแนะนำอย่างไร ต้องใช้ทุนมากไหม ควรเลี้ยงแบบไหนดี?

หากท่านใดที่สนใจต้องการเพาะเลี้ยงกุ้ก้ามแดงเพื่อประกอบเป็นอาชีพ ขอแนะนำว่าควรต้องศึกษา เรียนรู้ นิสัย พฤติกรรม ที่แท้จริงของกุ้งเสียก่อนว่า กุ้งฯต้องการกินอยู่ หลับ นอน แบบใด แล้วเหมาะสมกับตนเอง หรือไม่ (ยอมรับพฤติกรรมของกุ้งได้ไหม) เมื่อศึกษาและทำความเข้าใจได้แล้วจึงค่อยๆลงมือปฏิบัติ เพาะเลี้ยงเริ่มจากเล็กน้อย จนเกิดทักษะ ความชำนาญ มีประสบการณ์ต่างๆมากพอแล้วจึงเพิ่มจำนวน ปริมาณตามความต้องการ ต่อๆไป ควรเริ่มต้นจากขนาดกุ้งระยะ ๑นิ้วเป็นต้นไป ไม่เกิน ๓นิ้วจะง่ายต่อการปรับตัว ง่ายต่อการเลี้ยง และง่ายต่อการดูแล ต้นทุนไม่สูงมากนัก ส่วนจะเพาะเลี้ยงแบบใด ควรทำการศึกษาข้อดีข้อเสีย ของการเลี้ยงในแต่ละประเภท เช่น ในกาละมัง ฟิวเจอร์บอร์ด คอนโด บ่อปูน  บ่อดิน นาข้าว สระน้ำ ฯลฯ เมื่อยอมรับข้อดีข้อด้อยในแต่ละประเภทการเพาะเลี้ยง และเหมาะสมกับตนเอง แล้ว ค่อยลงทุน หรือขยายฟาร์มให้ตรงกับความสามารถของตัวเอง ในขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการเลี้ยงประเภทใดจัดว่าดีที่สุดเหมาะสมที่สุด แต่ถ้าท่านใดที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุดแล้วเพาะเลี้ยงจนสามารถขายได้กำไรมากที่สุด อาจจัดได้ว่าประสบผลสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากแต่ละคนแตกต่างกันมากในแต่ละท้องถิ่น ต้นทุนก็แตกต่างกันด้วย

ยกตัวอย่างท่านใดที่ทำนาข้าวอินทรีย์ หรือกลุ่มเกษตรกรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมีใดๆทั้งสิ้น กลุ่มนี้จะได้เปรียบที่สุดเพราะไม่ต้องปรับเปลี่ยนใดๆอีกแล้ว สามารถประยุกต์พื้นที่ตนเองแล้วนำลูกพันธุ์กุ้งก้ามแดงลงไปปล่อยเพื่อเพาะเลี้ยงได้ อย่างปลอดภัย แต่ถ้าหากกลุ่มใดในพื้นที่ แหล่งน้ำสภาพแวดล้อม มีการปนเปื้อนสารเคมีสูง(เข้มข้น) อาจต้องลงทุนสูงมากกว่ากลุ่มอื่นๆเพื่อป้องกันสารเคมี ที่ไม่พึงประสงค์ ปนเปื้อนในบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง มิเช่นนั้นกุ้งก้ามแดงจะสูญเสียมาก(ตาย) ซึ่งไม่ว่าจะเพาะเลี้ยงด้วยต้นทุนมากน้อยขนาดไหน เลี้ยงแบบใด ผู้เพาะเลี้ยงควรต้องหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสารเคมี ที่ไม่พึงประสงค์ ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ผลผลิต อาหารที่ปลอดภัย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เกษตรอินทรีย์ สินค้าอาหารปลอดภัย ในยุค ๔.๐ ครัวไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก จึงจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ยาวนาน และถาวร

ผู้เลี้ยงควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน
ผู้เลี้ยงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ

>>อยากเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจhttps://goo.gl/TZx8Jf<<

  1. มั่นใจมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ว่าการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงจะสามารถพัฒนาเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้?

มั่นใจได้ว่ากุ้งก้ามแดงถ้ามีการเพาะเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักการเกษตร ๔.๐ ในแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ จะมั่นคง ยั่งยืน ได้อย่างยาวนาน เพราะกุ้งก้ามแดงเป็นอาหารเป็นแหล่งโปรตีน ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงไว้ บริโภคเองได้อย่างปลอดภัย (เมื่อใดราคาแพงขาย เมื่อใดราคาถูกเอาไว้กินเองภายในครอบครัว แจกจ่าย ภายในญาติสนิท มิตรสหาย เพาะต้นทุนการเลี้ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารใดๆมาเลี้ยงกุ้งก้ามแดง) กุ้งก้ามแดงเป็นอาหารรสเลิศที่ประชาชนทั่วโลกนิยมรับประทานเป็นอาหาร จึงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าอนาคตกุ้งเนื้อเพื่อการบริโภค ยังอีกยาวนานมาก (เพาะเลี้ยงตามหลักเกษตรอินทรีย์ไม่มีทางตันแน่นอน) อีกทั้งกุ้งก้ามแดงสามารถออกลูกหลานได้เองตามอายุขัย ในระยะต่างๆ ถึงแม้ให้จำนวนไม่มาก แต่ก็ลดภาระต้นทุนค่าลูกพันธุ์ ลดภาระค่าอาหาร ลดภาระการใช้สารกระตุ้นทุกๆชนิด ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรค จึงเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงเพื่อการจำหน่าย และบริโภคได้ อย่างยั่งยืน (โตขาย ตายกิน) ใกล้เคียงปลานิล เพียงแต่อย่าละโมบโลภมากอยากรวย ค่อยทำค่อยเป็นค่อยไปตามรอยพระบาทดั่งคำพ่อสอน “สิ่งสำคัญคือเราพออยู่ พอกิน อุ้มชูตัวเราได้ ให้มีความพอเพียงแก่ตัวเอง พึ่งตนเองได้ **หมายความว่า**”ให้ดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่ อย่างประมาณตน มีกินมีใช้ตามอัตภาพ แล้วที่เหลือจึงขายเป็นรายได้ต่อไป…”โดยยึดหลัก ๓ห่วง ๒เงื่อนไข ๕ประการ ผมมั่นใจและเชื่อว่าถ้าใครทำได้ตามคำพ่อสอน อาชีพการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง มั่นคง ยั่งยืน ยาวนานแน่นอน

ตัวอย่างเมนูอาหารจากกุ้งก้ามแดง...
ตัวอย่างเมนูอาหารจากกุ้งก้ามแดง…
  1. โดยเฉพาะในเรื่องตลาดมั่นใจหรือไม่ (เช่น เลี้ยงแล้วไม่รู้จะไปขายใคร) และช่วงที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมส่งเสริมการกินกุ้งก้ามแดงอย่างไรบ้าง?

การตลาดจากภาพเมนูอาหารข้างต้นนี้ เป็นคำตอบได้ดีว่า การตลาดเพื่อการบริโภคเป็นอาหารยังไม่สามารถผลิตให้มีเพียงพอต่อการบริโภคของประชากรโลก ได้อย่างแท้จริง (ทำไม่พอกิน) หากแต่ว่าผู้เพาะเลี้ยงต้องผลิตให้ตรงตามความต้องการของบริโภคหรือ โดยเฉพาะขอเน้นย้ำครับว่า “สินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน เป็นตลาดที่เติบโตเร็วมากๆ” ประชากรโลก ล้วนต่างต้องการอาหารปลอดภัย กินแล้วมีความสุขกาย สุขใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนใดๆ คุณทำได้หรือไม่ ถ้าผู้เพาะเลี้ยงมุ่งเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ คำว่าล้นตลาดไม่มีแน่นอน  เนื่องจากกุ้งก้ามแดงรสชาติ ของกุ้งสามารถการันตี ในความอร่อยได้ด้วยตัวเขาเองอยู่แล้วและราคาค่อนข้างแพง เป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปที่มีฤดูหนาวแล้วเกิดหิมะ เมื่อถึงฤดูหนาว ประชากรยังต้องกินต้องใช้ แต่ประเทศเหล่านั้นไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ หรือแม้แต่จีน รัสเซีย นิยมบริโภคกันมาก สังเกตุได้ว่าในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆของประเทศไทยเช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ หัวหิน ฯลฯ ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กุ้งก้ามแดงไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายให้ภัตตาคาร ร้านอาหารโรงแรมต่างๆล้วนมีความต้องการสูงมากๆ แต่ยังไม่สามารถผลิตเพื่อป้อนตลาดบริโภคนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นตลาดยังต้องการอีกมากมาย แต่ผู้เพาะเลี้ยงควรรวมกลุ่มเพื่อผลิตในทุกๆระดับช่วงอายุกุ้งจนถึงกุ้งเนื้อเพื่อการบริโภค (ทำเป็นกลุ่มเป็นทีมดีกว่าต่างคนต่างทำ) ลดการแข่งขันการลดราคาตัดราคากันเองเพื่อความมั่นคง ยั่งยืน กับตัวเกษตรกรเอง อีกทั้งนโยบายของรัฐบาล ต้องการให้เกษตรกรไทยผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อป้อนสู่ตลาดโลก จึงไม่น่าเป็นกังวลเรื่องการตลาด

พลเอกประยุทธ์ กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
ภาพกุ้งก้ามแดงกับ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นภาพประวัติศาสตร์วงการกุ้งก้ามแดงอีกหน้าหนึ่งที่กรมประมงยอมรับให้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งฯได้อย่างแพร่หลายทั่วไป เมื่อ ๓ พ.ค. ๕๙ ที่หน้าตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลไทย

10.ในฐานะนายกคนใหม่มีนโยบายหรือภารกิจที่จะทำในเรื่องใดบ้าง?

๑.ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงในแบบอินทรีย์ ทั่วไปที่ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมีใดๆเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล “อาหารไทยปลอดภัย ครัวไทยสู่ครัวโลก”

๒.ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงในแปลงนาข้าวอินทรีย์ร่วมกับปลูกป่า ปลูกต้นไม้เพื่อใช้สอยในโอกาสต่างๆเพื่อฟื้นฟูสภาพสภาวะสิ่งแวดล้อม ให้กลับคืนมาตรงตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น เช่น ต้นมะม่วง ขนุน ยางนา มะค่า ประดู่ พยุง ไม้สักทอง สะเดาช้าง ตะเคียนทอง กล้วย มะละกอ ชอม ฯลฯ แล้วแต่ใครต้องการฟื้นฟูและปลูกอะไรร่วมกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

๓.ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดกลุ่มแบ่งโซนนิ่ง การผลิต จัดกลุ่มเพื่อแบ่งหน้าที่กระบวนผลิต ตามระยะ อายุ ขนาดของกุ้งให้ตรงตามความสามารถของผู้เพาะเลี้ยง

๔.ส่งเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้มีโอกาสเพาะเลี้ยง เพื่อเป็นอาชีพ เสริมรายได้ ลดภาระคนใกล้ชิดครอบครัวญาติพี่น้อง สังคม ชุมชน และประเทศชาติ เพื่อกลุ่มคนเหล่านั้นได้อาชีพอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน เช่น คนพิการ กำพร้า คนชรา นักโทษชั้นดี ฯลฯ (อ่านข่าวนี้ https://goo.gl/aC6OeJ)

๕.ส่งเสริมให้มีการซื้อขาย กุ้งก้ามแดงในราคาที่เป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

๖..ส่งเสริมให้ความรู้อย่างแท้จริงในการเพาะเลี้ยง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

๗..ส่งเสริมแนะนำเกษตรกรให้เพาะเลี้ยงอย่างมีความสุข มีอาชีพเสริม มีรายได้ และมีต้นทุนต่ำที่สุด

๘.ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยง ต้องมีส่วนร่วม ในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในแต่ละชุมชน ควบคู่กับการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบาย เกษตรกรยุค ๔.๐ ของรัฐบาล

๙.ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงควบคู่กับการประกอบอาชีพอื่นๆได้อย่างมั่นคง

๑๐.โดยส่วนตัวจะขอรวบรวมกุ้งก้ามแดงจากสมาชิกทั้งหลายเพื่อส่งกุ้งเนื้อให้ทางรัฐบาลไทย หรือพระราชสำนัก ได้นำกุ้งเนื้อเพื่อมาปรุงเป็นอาหารต้อนรับพระราชอาคันตุกะ หรือประมุขจากประเทศต่างๆทั่วโลก ที่จะมาร่วมงานถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ ในพระบรมโกศ เพื่อแสดงให้ประมุขจากต่างประเทศได้เห็นซึ่งพระอัจฉริยะภาพ ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทย ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีผลผลิตอาหารที่ปลอดภัย ไว้คอยต้อนรับชาวต่างชาติได้อย่างภาคภูมิใจ

หมายเหตุ : คุณประทีป มายิ้ม  โทร. ๐๘๑-๖๖๔๕๕๖๑

>>อยากเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ… https://goo.gl/TZx8Jf<<

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated