หวังสร้างความยั่งยืน...กรมการข้าว เตรียมแผนผลิตข้าวครบวงจรปี 59-60
กรมการข้าว เดินหน้าผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เดินหน้าขับเคลื่อนงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาส่งเสริมให้การผลิตข้าวของไทยมีคุณภาพ มีความมั่นคงในตลาด และมีความยั่งยืนในอาชีพ โดยได้ประชุมทางไกลออนไลน์เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (GIN Conference) กับคณะผู้บริหาร ร่วมกับผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าว จำนวน 51 แห่งทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายและทิศทางการทำงานของกรมการข้าวในปี 2560

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว

อธิบดีกรมการข้าว ได้กล่าวถึงทิศทางการทำงานของกรมการข้าวในการพัฒนางานด้านข้าวของประเทศว่า จากนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการยกระดับและพัฒนาข้าวไทยสอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาสินค้าข้าวให้มีมาตรฐาน การเตรียมแผนการผลิตข้าวครบวงจร ปี 2559/60 รอบที่ 2 เชื่อมโยงกับการใช้  Agri-map แผนที่ทางเกษตรเพื่อบริหารจัดพื้นที่ปลูกข้าวตามกลุ่มพันธุ์ข้าวต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และปรับลดการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมให้ทำการเกษตรอย่างอื่นเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ด้านการวิจัยและพัฒนาข้าว จะผลักผันในมิติการตลาด สังคม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่มีแนวโน้มว่าการบริโภคข้าวต่อหัวเฉลี่ยลดลง

ด้านการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว สร้างความสมดุลในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งปริมาณและเวลาด้วยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทั้งในส่วนของการผลิตเพื่อจำหน่ายและผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง

ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าข้าว รวบรวมข้อมูลเป็นฐานข้อมูลให้สามารถเข้าถึงได้ และใช้ในการส่งเสริมการตลาดในเชิงพาณิชย์ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและไม่ใช่อาหาร

ด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ส่งเสริมการผลิตข้าวในเชิงพาณิชย์ด้วยระบบการผลิต GAP เป็นแนวทางปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าข้าวและผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก การใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในแปลงนา การใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ การจัดการข้าวเปลือกให้มีคุณภาพดี การเก็บเกี่ยวและปฎิบัติอย่างถูกวิธี การป้องกันผลผลิตจากศัตรูพืช การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตรอย่างเป็นระบบ

สำหรับโครงการนาแปลงใหญ่ให้เกษตรกรรวมตัวกันปลูกข้าวด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้องโดยมีการวางแผนการผลิตควบคู่กับการตลาด บริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ลดต่ำลง และเพิ่มอำนาจการต่อรองการเพิ่มศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มข้าวให้ครบทั้ง 882 แห่ง เพื่อประโยชน์ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ การส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ซึ่งมี “ยโสธรโมเดล” ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบขยายความสำเร็จสู่พื้นที่อื่นๆ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated