เปิดใจ “ศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์” ครูบัญชีดีเด่นปี 2561 “ผมจะใช้บัญชีเป็นเครื่องมือปลดหนี้ให้เกษตรกร”
“ศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์” ครูบัญชีดีเด่น ระดับภาค ปี 2561

“ศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์” ครูบัญชีดีเด่น ระดับภาค ปี 2561 ต่อยอดความสำเร็จชุมชนต้นแบบ คนรักการทำบัญชี เดินหน้าขยายเครือข่าย พัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านบัญชีครบวงจร

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนและพัฒนาให้อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี หรือครูบัญชีอาสา เป็นตัวแทนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการทำหน้าที่สอนแนะและกระตุ้นการเรียนรู้และติดตามผลการจัดทำบัญชี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปนำ “บัญชี” ไปใช้เป็นเครื่องมือนำทางให้ผู้ทำบัญชี รู้จักคิด รู้จักจ่าย รู้จักออม และเกิดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนตนเองสู่ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ก่อเกิดแนวคิดพัฒนาอาชีพ ทำให้รู้รายได้ รู้รายจ่าย มีเงินออม ก้าวสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์ ครูบัญชีดีเด่น ระดับภาค ประจำปี 2561 วัย 29 ปี จากตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครูบัญชีรุ่นใหม่ที่ปฏิบัติงานเป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยส่งเสริมการทำบัญชีให้เกษตรกรและชาวบ้านในชุมชนมาเป็นเวลากว่า 11 ปี เพื่อให้เกษตรกรและคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการทำบัญชี ซึ่งประสบการณ์การสอนและติดตามการทำบัญชี ทำให้ทราบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการทำการเกษตร ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้บัญชี เป็นเครื่องมือ ปลดหนี้ให้เกษตรกร โดยคำนึงถึงหนี้เป็นหลักและใช้ต้นทุนในการขับเคลื่อนทำให้เกิดกำไรจากการประกอบอาชีพ และสามารถชำระหนี้ได้

ครูศุภธนิศร์ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนการทำบัญชีในชุมชนต้นแบบ
ครูศุภธนิศร์ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนการทำบัญชีในชุมชนต้นแบบ

ผลงานสำคัญคือการเป็นผู้พัฒนาโมเดลบ้านร้องส้มป่อย 4.0 ซึ่งเกิดจากการเข้าไปขับเคลื่อนให้เกษตรกรในชุมชนบ้านร้องส้มป่อย ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีสมาชิก 53 ครัวเรือน ได้เห็นความสำคัญในการจัดทำบัญชีทั้งบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และนำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีไปวิเคราะห์ตนเอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากหมู่บ้านที่เกษตรกรมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ กลายเป็นชุมชนที่มีระบบจัดการที่ดีและเข้มแข็ง จนพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบคนรักการทำบัญชี

“ชุมชนบ้านร้องส้มป่อย เดิมทีเป็นชุมชนขนาดเล็กมีเฉพาะที่อยู่อาศัย และมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ส่วนมากเป็นหนี้นอกระบบ จึงได้นำระบบบัญชีมาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนในการปลดหนี้ ให้ชาวบ้านใช้บัญชีในการคิดวิเคราะห์ และแยกแยะค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชุมชน ในครัวเรือน และหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ได้ โดยใช้แนวคิดของชุมชนเป็นหลัก และส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม ทำให้มีเงินหมุนเวียนในครัวเรือน มีเงินออม จนตอนนี้หนี้นอกระบบหายไป ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยังเป็นต้นแบบให้หมู่บ้านใกล้เคียงมาดูงานและนำไปปฏิบัติตามแบบอย่าง” ครูศุภธนิศร์ กล่าวถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนการทำบัญชีในชุมชนต้นแบบ

หลังจากพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนบ้านร้องส้มป่อยให้สามารถจัดทำบัญชีได้ทุกครัวเรือนจนสามารถปลดหนี้นอกระบบได้สำเร็จแล้ว ครูศุภธนิศร์ ยังเตรียมขยายผลเครือข่ายคนทำบัญชีให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยใช้แบบอย่างจากชุมชนบ้านร้องส้มป่อย เป็นโมเดลในการพัฒนาในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

“คิดที่จะขยายเครือข่ายคนทำบัญชีให้มากขึ้น อาศัยหลักเดิมของชุมชนบ้านร้องส้มป่อยมาเป็นโมเดลต้นแบบ โดยจะขยายไปที่ชุมชนดอยหล่อ ชุมชนบ้านวังพานทอง ชุมชนบ้านไร่สว่างอารมณ์ และชุมชนในบริเวณใกล้ๆ ซึ่งสามารถนำโมเดลของบ้านร้องส้มป่อย มาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตนเองและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมไปถึงการชำระหนี้ด้วย โดยตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เริ่มจากการเผยแพร่องค์ความรู้ในศูนย์ศพก.ก่อน และจะกระจายสู่ชุมชนใกล้ๆ ต่อไป”

กลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของการขยายเครือข่ายการทำบัญชี โดยครูศุภธนิศร์ ได้นำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน ทำให้มีเครือข่ายครูบัญชีรุ่นเยาว์เพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับแนวการสอนการทำบัญชีให้เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ โดยนำแอพพลิเคชั่น Smart Me ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไปสอนแนะให้นักเรียนโครงการยุวเกษตรกร โรงเรียนสันติสุข อำเภอดอยหล่อ ได้เรียนรู้การบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ผ่านอุปกรณ์ Smart Phone ควบคู่กับการนำไปปฏิบัติงานจริงในโครงการ และขยายผลนำไปสอนผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชนด้วย

ศูนย์การเรียนรู้บัญชีเกษตรครบวงจร เป็นโครงการล่าสุดที่ครูศุภธนิศร์ริเริ่มให้มีขึ้นภายในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยบูรณาการร่วมกับชมรมครูบัญชีจังหวัดเชียงใหม่ และชมรมครูบัญชีระดับภาคของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 7 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรและเป็นฐานเรียนรู้ด้านบัญชีครบวงจรให้กับเกษตรกรและคนในชุมชน โดยให้บริการสอนแนะบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน บัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เชื่อมโยงกับโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่งเสริมการใช้นวัตกรรม Smart Me แก่เกษตรกร เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกร มีการนำบัญชีไปใช้ คิดวิเคราะห์วางแผนในการประกอบอาชีพ สามารถลดหนี้ แก้จน ลดต้นทุน พร้อมวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม โดยตั้งเป้าพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านบัญชีฯ แห่งแรก ในศพก.บ้านไร่สว่างอารมณ์ จ.เชียงใหม่ และขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงใน จ.ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เพื่อขยายเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ด้านบัญชีในชุมชนต่อไป

“ศพก.บ้านไร่สว่างอารมณ์ เป็น ศพก.ใหม่เพิ่งจัดตั้งเมื่อปี 2561 ซึ่งเราได้ระดมแนวคิดให้มีกิจกรรมใหม่ขึ้นมา คือ ศูนย์การเรียนรู้บัญชีเกษตรครบวงจร เพื่อตั้งเป็นต้นแบบในการเรียนการสอนบัญชีแบบครบวงจรมีการเรียนการสอนทั้งการบันทึกบัญชีลงในสมุดและในแอพพลิเคชั่นด้วย ซึ่งเกษตรกรและประชาชนที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ฯ สามารถนำข้อมูลที่บันทึกบัญชีไปวิเคราะห์ถึงต้นทุน และภาระหนี้สินได้ โดยจะทำนำร่องใน 3 จังหวัด คือ ลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน”

เด็กและเยาวชน เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของการขยายเครือข่ายการทำบัญชี โดยครูศุภธนิศร์
เด็กและเยาวชน เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของการขยายเครือข่ายการทำบัญชี โดยครูศุภธนิศร์

ปัจจุบันศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์ ยังคงทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนแนะการจัดทำบัญชีทั้งบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน บัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงอีกทั้งสอนแนะการใช้แอพพลิเคชั่น Smart Me แก่เกษตรกรและประชาชนผู้ที่สนใจเพื่อขยายเครือข่ายการทำบัญชีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีหนี้สินโดยใช้บัญชีเป็นเครื่องมือนำทางตามคำปรัชญาของตนเองที่ว่า “ผมจะใช้บัญชี เป็นเครื่องมือปลดหนี้ให้เกษตรกร”

ในการทำบัญชี ถ้าเรารู้ เข้าใจ มันบันทึกไม่ยาก นอกจากเราจะได้ประโยชน์ในการบันทึก ในการทราบรายรับ-รายจ่ายของเราแล้ว ยังได้ประโยชน์ในการคิดวิเคราะห์ จำแนกในส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จากบัญชีที่เราบันทึกมา และปรับใช้ ปรับลดให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และนำไปใช้เท่าที่จำเป็น เกิดเป็นเงินออมให้เก็บใช้ในอนาคต” ศุภธนิศร์ กล่าวทิ้งท้าย.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated