“ภูดิศ หาญสวัสดิ์” ต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ใช้บัญชีวางแผน ปรับเปลี่ยนการผลิต
“ภูดิศ หาญสวัสดิ์” ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่หันเหชีวิตมาเป็นเกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเน้นพัฒนาให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ซึ่งมีอายุระหว่าง ๑๗-๔๕ ปี ที่เริ่มต้นทำการเกษตร และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของตนเอง มีการบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการและการตลาดสินค้าเกษตร สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นและเป็นที่พึ่งแก่เพื่อนเกษตรกรได้ สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ

“ภูดิศ หาญสวัสดิ์” เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม
“ภูดิศ หาญสวัสดิ์” เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม

“ภูดิศ หาญสวัสดิ์” เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี ๒๕๖๑ เป็นอีกตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่หันเหชีวิตมาเป็นเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยนำข้อมูลทางบัญชีมาเป็นตัวช่วยในการวางแผนและจัดการด้านการตลาด และทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางบัญชีไปสู่เพื่อนเกษตรกรและชุมชน จนประสบความสำเร็จในอาชีพ เริ่มต้นจากการเป็นหนุ่มนักการตลาดในกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งตัดสินใจมาใช้ชีวิตสมรสกับภรรยา ที่หมู่บ้านหนองไฮ ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น และเริ่มต้นทำการเกษตรในพื้นที่ ๑๕ ไร่เศษ ซึ่งจัดสรรที่ดินออกเป็น ๔ ส่วน พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นบ่อน้ำ เพื่อใช้กักเก็บน้ำและเลี้ยงสัตว์ ส่วนที่สองไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่สามปลูกพืชแบบผสมผสาน และส่วนที่สี่เป็นที่อยู่อาศัย โดยเป็นต้นแบบในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ ทำให้รู้จักคำว่า พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็นพื้นฐานในการวางแผนการประกอบอาชีพ

จุดเริ่มต้นในการทำบัญชีของครูภูดิศ มาจากการได้แรงบันดาลใจจากครูประมวน สูงแข็ง ครูบัญชีอาสาอำเภอโนนศิลา ซึ่งยังเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม รองชนะเลิศระดับประเทศ อันดับ ๑ ประจำปี ๒๕๕๙ โดยได้สอนแนะการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรและเครือข่ายครูบัญชีของอำเภอโนนศิลา จึงได้ลองบันทึกบัญชีของตนเองและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ทำให้พบว่ามีรายจ่ายบางรายการที่ไม่จำเป็น และได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน ทำให้ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ หลังจากนั้นจึงทำบัญชีมาอย่างต่อเนื่องและนำข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์วางแผนก่อนเริ่มดำเนินการและบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับ
ความต้องการของตลาด

ภูดิศ หาญสวัสดิ์ ผู้ใช้บัญชีมาบริหารจัดการกิจกรรมทางการเกษตร
ภูดิศ หาญสวัสดิ์ ผู้ใช้บัญชีมาบริหารจัดการกิจกรรมทางการเกษตร

“แต่เดิมไม่ใช่คนในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นคนภาคกลางที่ทำงานในบริษัทมาหลายบริษัท จนกระทั่งมาแต่งงานและได้เริ่มต้นอาชีพเกษตรกรที่จังหวัดขอนแก่น มีการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ หลากหลายกิจกรรมด้านการเกษตร แต่ทุกๆกิจกรรมจะมีการจดบันทึกบัญชี ทำให้ทราบว่าหลายๆกิจกรรมมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ทั้งนี้ เพราะมีตัวเลขทางบัญชีเป็นตัวกำหนดและเป็นตัวควบคุมว่าเราควรทำกิจกรรมใดต่อ หรือไม่ทำกิจกรรมใด ซึ่งจุดเริ่มต้นในการสนใจการทำบัญชีมาจากการเห็นต้นแบบจากครูประมวน สูงแข็ง ครูบัญชีระดับประเทศ ได้มีการพูดคุยกันถึงการจดบันทึกการทำบัญชี และครูประมวนก็เป็นคนแนะนำให้ทำบัญชี และนำตัวเลขทางบัญชีมาใช้บริหารจัดการกิจกรรมทางการเกษตร” ครูภูดิศ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำอาชีพเกษตรกรและการเริ่มจดบันทึกบัญชี

นอกจากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในครัวเรือนได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีแล้ว ยังใช้บัญชีมาวางแผนปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพและมองเห็นช่องทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น โดยจากเดิมที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีระยะการปลูกยาวนาน แต่รายได้น้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสานและเพิ่มรายได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ทำข้าวหมาก ปลาร้าบอง และการเลี้ยงกบ ซึ่งจากที่เคยขายกบเนื้อ ได้กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ก็หันมาทำกบครบวงจร เพาะพันธุ์พร้อมจำหน่ายกบเนื้อ ลูกกบ หนังกบตากแห้งและกบแช่แข็ง ซึ่งส่งออกไปยัง สปป.ลาว ด้วย นอกจากนี้ ยังแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทำกบดิ่งพสุธาหรือกบย่างรมควัน ซึ่งขายได้ถึงกิโลกรัมละ ๑,๐๐๐ บาท

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้กับเกษตรกรและชุมชน
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้กับเกษตรกรและชุมชน

“ในส่วนของการทำการเกษตร ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจก่อน จากนั้นจึงมีการทดลอง ทุกๆกิจกรรม จะต้องมีการทดลองก่อน ทดลองปลูก ทดลองเลี้ยง มีการคำนวณในส่วนของต้นทุน ดูในเรื่องของรายได้ ผลผลิต ว่าสามารถที่จะนำมาขยายผลเพื่อเป็นอาชีพได้อย่างไรต่อไป จากการทดลองทำแล้วเราก็จะเอาตัวเลขทางบัญชีมาเป็นตัวชี้วัดว่า ควรทำกิจกรรมนี้เป็นอาชีพหรือเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมในด้านของการทำการเกษตร โดยใช้ตัวเลขทางบัญชี” จากการเห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชีจึงอยากจะถ่ายทอดความรู้เรื่องบัญชี พร้อมทั้งเรื่องวางแผนการตลาดให้กับเกษตรกรได้รู้และเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชีด้วย จึงได้สมัครเข้ารับการอบรม Smart Farmer ต้นแบบด้านบัญชี และสมัครเข้าร่วมเป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอโนนศิลาและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดขอนแก่น สร้างเครือข่ายครูบัญชีและจัดตั้งกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดขอนแก่น เพื่อรวมกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมทุกด้านการเกษตร เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและความรู้ มีการช่วยเหลือและแบ่งปันกัน

“ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนทีม Young Smart Farmer โดยได้นำข้อมูลทางบัญชีของตนเองที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ไปนำเสนอและแนะนำกับเพื่อนๆว่า ในการทำการเกษตรก็เหมือนการทำ
ธุรกิจส่วนตัว มีการทำการผลิตเอง แปรรูปเอง แพ็คเกจเอง จำหน่ายเอง ฉะนั้นแล้ว เราจะต้องมีการจดบันทึกการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทั้งบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพด้วย ถ้าเราไม่ทำบัญชี เราจะไม่รู้ว่ากิจกรรมที่เราทำอยู่ประสบความสำเร็จหรือไม่ เราจึงชักชวนเพื่อนๆในกลุ่มมาเป็นสมาชิก มาเรียนรู้การทำบัญชีร่วมกัน”

ปัจจุบัน ภูดิศ หาญสวัสดิ์ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะประธาน Young Smart Farmer ของจังหวัดขอนแก่น เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำการเกษตรโดยปราศจากการใช้สารเคมี ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นผู้นำทางการเกษตรซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้ชุมชน และที่สำคัญคือ การทำหน้าที่เป็นครูบัญชี ถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้กับเกษตรกรและชุมชน ได้ใช้ข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์วางแผนการประกอบอาชีพ ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้ก้าวหน้าขึ้น

ภูดิศ หาญสวัสดิ์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ถ่ายรูปร่วมกัน
ภูดิศ หาญสวัสดิ์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ถ่ายรูปร่วมกัน

“ฝากถึงเกษตรกรทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ในเรื่องของบัญชีนี้ บัญชีจะสามารถ บ่งบอกว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ มีรายจ่ายเท่าไหร่ ในส่วนหนึ่งบัญชีคือครู ครูที่คอยบอกเราว่าสิ่งที่เราทำถูกหรือผิดถ้าไม่ถูกก็ควรหยุดทำ ถ้าถูกทางก็ควรทำต่อ ในบางครั้งครูเปรียบเสมือนศาล อัยการ คอยตัดสิน และพิพากษา เพราะคนในครอบครัวเดียวกัน ความเห็นอาจจะแตกต่างกัน แต่ถ้าเราเอาตัวเลขทางบัญชีมาดู จะบอกได้ว่ากิจกรรมที่เรากำลังทำ หรือกิจกรรมที่เราทำไปแล้วนี้ควรจะทำต่อหรือไม่ ตัวเลขทางบัญชีจึงเป็นตัวตัดสินได้ ดังนั้น ในการทำกิจกรรมทุกๆกิจกรรม ไม่เฉพาะว่าจะต้องเป็นกิจกรรมด้านการเกษตร จำเป็นต้องทำบัญชี ถ้าไม่มีบัญชี ก็ไปไม่ได้ ไปไม่รอด บัญชีจึงสำคัญมากๆ จะไม่บอกว่าควรทำแต่จำเป็นต้องทำครับ” ครูภูดิศ กล่าวทิ้งท้าย

การนำความรู้ทางบัญชีมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจทดลองทำเองทุกขั้นตอน โดยศึกษาข้อมูลความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ และยังต่อยอดไปถึงการพัฒนาคนในชุมชน ทำให้ภูดิศ หาญสวัสดิ์ เป็นต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพจนถึงทุกวันนี้.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated