ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปภาคเกษตรไทย
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปภาคเกษตรไทย

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการผลการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ปี 2559 ภายใต้แนวคิด “Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย” ณ กรมส่งเสริมการเกษตร ว่าภาคการเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภารกิจนี้ถูกจัดเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทย ระหว่างปี 2560 – 2564 รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นเป้าหมายเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นสร้างรากฐานที่เข้มแข็งแก่ภาคเกษตร ด้วยการพัฒนาเกษตรกรในทุกช่วงวัย ทั้งระดับบุคคล กลุ่ม/องค์กร และชุมชน ให้ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

มอบรางวัล  Smart Farmer
มอบเข็มเชิดชูเกียรติ Smart Farmer

“กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายด้านการปฏิรูปภาคการเกษตรไทย โดยเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ยึดประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลักให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปทำงานในลักษณะการให้บริการความรู้ด้านต่างๆ กับพี่น้องเกษตรกรที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของทุกอำเภอ เน้นขยายผลทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างผลผลิตที่หลากหลายและพอเพียงสำหรับเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงแก่ครัวเรือนเกษตรกร เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีบทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกรเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmer โดยการบริหารจัดการกลุ่มขั้นพื้นฐานไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย การมีส่วนร่วมเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามารถวิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการพัฒนา และจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตมาคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้

วันนี้เกษตรกรจากหลายจังหวัดนำผลงานมาโชว์กันเต็มที่
Smart Farmer นำผลงานมาโชว์กันเต็มที่

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ มีบทบาทในการดูแลกลุ่มธรรมชาติที่จัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มยุวเกษตรกร ระยะเวลาการจัดตั้งนาน 60 ปี ซึ่งปี 2559 มีกลุ่มยุวเกษตรกร จำนวนทั้งสิ้น 5,887 กลุ่ม สมาชิกยุวเกษตรกร จำนวน 165,557 ราย มีจำนวนที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 8,557 ราย กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ระยะเวลาการจัดตั้งนาน 40 ปี โดยปีนี้ มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 19,151 กลุ่ม สมาชิกแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 479,822 ราย และกลุ่มส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ระยะเวลาการจัดตั้ง 15 ปี โดยมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพเกษตรกร จำนวน 9,564 กลุ่ม สมาชิก จำนวน 268,656 ราย

“การพัฒนา Smart Farmer มีเป้าหมายต้องการให้เกษตรกรทั่วประเทศ ได้ยกระดับมาตรฐานให้เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพสามารถปรับเปลี่ยนตนเอง เปิดรับข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้ มีการใช้ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดการผลิตผลทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เป็นเพื่อนคู่คิดคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ทั้งความรู้ในเรื่องเกษตรที่ทำอยู่ เพื่อให้เกษตรกรมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและสังคม ที่สำคัญคือมีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกร และต้องมีรายได้จากภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท ต่อปีต่อครัวเรือน นี่คือคุณสมบัติของ Smart Farmer ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด ซึ่งจากการสำรวจในปี 2558 พบว่า ครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 6.86 ล้านราย มีครัวเรือนเกษตรกรที่ผ่านคุณสมบัติเป็น Smart Farmer เพียง 623,560 ราย (คิดเป็นร้อยละ 9.08) และครัวเรือนเกษตรกรที่เหลือ จำนวน 6.24 ล้านราย ไม่ผ่านคุณสมบัติ (คิดเป็นร้อยละ 90.92) ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับทิศทางการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และ Smart Group ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”

กระทรงเกษตรฯ หนุนสุดๆ  Smart Farmer
ถ่ายภาพร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรและองค์กรเกษตรที่มีผลงานเด่น

สำหรับการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ มีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปภาคเกษตรไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ การจัดสถานีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ Smart Farmer และ Smart Group ต้นแบบ 8 สถานี มีเวทีเฉพาะกลุ่มเพื่อสร้างการเชื่อมโยงเครือข่าย ด้านนิทรรศการกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อ Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย แบ่งเป็น 3 ส่วน 8 โซน ได้แก่ 1. นโยบายการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 2. ผลงานความสำเร็จของต้นแบบ Smart Farmer และ Smart Group ใน 6 กลุ่ม อาทิ กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร หัวข้อ ลดต้นทุน ขยายโอกาส กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หัวข้อ ความมั่นคงด้านอาหารในชุมชน Young Smart Farmer หัวข้อ อนาคตเกษตรไทยอาสาสมัครเกษตร หัวข้อ จิตอาสา พัฒนาการเกษตร เป็นต้น 3. นิทรรศการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร จากหน่วยงานภาคี ในหัวข้อ ประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมมอบเข็มเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกรที่มีผลงาน Smart Products จาก Smart Farmer ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร 7 สาขา รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร

 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated