คณะสัตวแพทย์ฯ มก. เจ๋ง...ผ่าตัดหัวใจม้า-ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรครั้งแรกของเอเชีย
คณะทีมสัตว์แพทย์ฯ มก. ขณะใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจให้ม้าไทเกอร์...

ม้าเป็นโรคหัวใจไม่ต้องกลัวอีกแล้ว…มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มก. พร้อมด้วย ศ.น.สพ.อภินันท์ สุประเสริฐ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์, สพ.ญ.สุนทรี เพชร์ดี และ น.สพ.เมธา จันดา ทีมคณะสัตวแพทย์ฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า “มก.ประสบความสำเร็จในการรักษาม้าที่เป็นโรคหัวใจด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Pacemaker”

แถลงข่าวความสำเร็จผ่าตัดม้า...
การแถลงข่าวความสำเร็จมีขึ้นที่ห้องประชุมกำพลอดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี เมื่อเร็วๆนี้

ดร. จงรัก กล่าวว่า มก.มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนและสร้างนวัตกรรมใหม่และวิชาการเพื่อชี้นำสังคม สาขาที่เรามีความเข้มแข็ง เช่น ด้านการเกษตรสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ ฯลฯ สำหรับสาขาสัตวแพทย์ฯนั้น ได้สร้างชื่อเสียงมาโดยตลอด ล่าสุดโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ฯ มก.วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการผ่าตัดม้า ซึ่งเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติได้สำเร็จ

“ก้าวต่อไป มก.จะพัฒนาวิธีการรักษาสัตว์อื่นๆ ทั้งสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม ฯลฯ…ขึ้นชื่อว่าสัตว์ก็มีชีวิตเหมือนคน เราต้องค้นหาวิธีรักษากันต่อไป”

ม้าไทเกอร์
ทีมสัตวแพทย์ฯ มก. นำโดย ศ.น.สพ.อภินันท์ สุประเสริฐ ถ่ายภาพกับม้าไทเกอร์และเจ้าของ

ด้าน ศ.น.สพ.อภินันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรม้าทั่วประเทศกว่า 20,000 ตัว ทั้งนี้ความสำเร็จในการรักษาม้าด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจในครั้งนี้ เป็นบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์และเจ้าของ ซึ่งสัตว์ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ก็ได้รับประโยชน์ในการต่อยอดงานวิจัย ขอยืนยันว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย

“หากคิดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดม้าครั้งนี้ ตกประมาณ 200,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความรักความผูกพันของเจ้าของ และเทียบกับการผ่าตัดม้าในประเทศอังกฤษหรือสกอตแลนด์ ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 ปอนด์ หรือราว 1 ล้านบาท” (คำตอบนี้ มาจากคำถามของสื่อมวลชน…และหากม้าของใคร ที่มีอาการซึมเศร้า สามารถติดต่อทีมสัตว์แพทย์ มก. ไปตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้)

ม้าไทเกอร์ ออกมาเดินโชว์

สพ.ญ.สุนทรี ในฐานะผู้นำทีมผ่าตัด ให้รายละเอียดว่าม้าที่ผ่าตัดเป็นม้าแข่งเพศผู้ มีชื่อว่า “ไทเกอร์” อายุ 18 ปี น้ำหนักชั่งได้ 530 กิโลกรัม พบว่าม้ามีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง  และไม่ร่าเริงเหมือนปกติ

“ได้ทำการตรวจวินิจฉัยพบว่า ม้ามีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าผิดปกติ และจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจห้องบนแบบกระจัดกระจาย มีจังหวะหยุดของหัวใจนานเกินกว่า 6 วินาที ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว”…

วิธีการรักษา “คณะแพทย์ได้ผ่าตัดด้วยวิธีการสอดสายสวนและติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรเพื่อช่วยกำหนดอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในภาวะปกติ …ใช้เวลาผ่าตัด 3 ชั่วโมง… ผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดีหลังการติดตามผลการผ่าตัด 30 วัน พบว่า ม้าฟื้นตัวดี และมีจังหวะการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ”

“หลังจากนี้จะทำการวางแผนการรักษาต่อเพื่อให้ม้าสามารถลงแข่งขันได้อีกครั้ง” นี่คือความหวังของทีมแพทย์ รวมทั้งเจ้าของม้า

ทางด้าน น.สพ.เมธา กล่าวว่า ความยากของการผ่าตัดอยู่ที่ต้องผ่าตัดม้าในท่ายืน  ซึ่งในต่างประเทศผ่าตัดในขณะที่ม้านอนอยู่ แต่ทีมแพทย์ก็ได้ใช้ความพยายาม จนการผ่าตัดสำเร็จด้วยดี

ขณะที่เจ้าของม้า คุณพลอยไพลิน พัฒนกุล กล่าวด้วยความรู้สึกดีใจว่า ไทเกอร์เล่นได้มากขึ้น จากเดิมที่มีอาการซึม ไม่กินอาหาร “หลังการผ่าตัดแล้วไทเกอร์ดูมีความสุขมากขึ้น เจ้าของก็มีความสุขด้วย”  

หลังจากแถลงข่าวจบลง ทาง มก. ได้นำคณะสื่อมวลชน รวมทั้งทีมสัตว์แพทย์ ไปเยี่ยมม้าไทเกอรที่สนามฝึกขี่ม้า CHECKMATE” ย่านซอยวัชรพล ก็พบว่าไทเกอร์ มีอาการร่าเริง เหมือนม้าปกติทั่วไป

เจ้าของม้าไทเกอร์
“หลังการผ่าตัดแล้วไทเกอร์ดูมีความสุขมากขึ้น เจ้าของก็มีความสุขด้วย” คือคำยืนยันจากเจ้าของไทเกอร์
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated