จับตาย 4 แมลงศัตรูมะพร้าวตัวฉกรรจ์ และการป้องกัน
เกษตรกรรายนี้ (คุณสมจิตต์ ทองคง-พัทลุง) กำลังตรวจตราหาแมลงดำหนาม ที่มักเข้ามาโจมตีอยู่เสมอ

กรมวิชาการเกษตร ประกาศจับตาย 4 แมลงศัตรูมะพร้าว…เผยเคยระบาดรุนแรง ทำให้สวนมะพร้าวนับแสนไร่ต้องเข็ดขยาดมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ปราบหรือป้องกันไม่ได้ หากรู้วิธี ดังต่อไปนี้

แมลงศัตรมะพร้าง
สั่งจับตาย…4 แมลงศัครูมะพร้าว

1.ด้วงแรด ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยจะเจาะใบมะพร้าวที่บริเวณ โคนทางใบที่ 2 หรือที่ 3 ทะลุเข้าไปถึงยอดอ่อนตรงกลางหรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทำให้ใบมะพร้าวที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่ง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป

การป้องกันกำจัด

  • โดยวิธีเขตกรรม คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยเผาหรือฝังซากตอหรือลำต้นของมะพร้าว และเกลี่ยกองซากพืชหรือกองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 ซม.
  • โดยชีววิธี โดยใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) สร้างกับดักราเขียวโดยใช้ขุยมะพร้าวที่หมักแล้วผสมกับหัวเชื้อราเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด
  • ใช้ทรายหรือสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตรา สารฆ่าแมลง 1 ส่วน ต่อ ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละครั้ง หรืออาจใช้สารไล่แนพทาลีน บอล (ลูกเหม็น) อัตรา 6-8 ลูกต่อต้นโดยใส่ไว้ในซอกโคนทางใบ
  1. ด้วงงวงมะพร้าว ลักษณะการทำลาย ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอมะพร้าวและพบบ้างที่โคนลำต้น ทำให้ต้นตาย อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้งใบเหลือง

การป้องกันกำจัด

  • ป้องกันกำจัดด้วงแรดอย่าให้เข้าทำลายมะพร้าวเพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้
  • ดูแลทำความสะอาดแปลงมะพร้าว ถ้าพบมีการทำลายให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40% EC) อัตรา 80 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ทำลายต้นมะพร้าวที่มีหนอนด้วงงวงอยู่ หรือทำลายตัวหนอนเพื่อมิให้แพร่พันธุ์ต่อไป
  1. แมลงดำหนาม ลักษณะการทำลาย ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงจะมองเห็นยอดเป็นสีขาวโพลนชัดเจน การระบาดทำลายได้ทั้งมะพร้าวต้นเล็กและต้นสูงที่ให้ผลผลิตแล้ว

การควบคุมและการป้องกันกำจัด

  • การควบคุมโดยชีววิธี ใช้แตนเบียน (Asecodes hispinarum Boucek) ในการควบคุม โดยแตนเบียนเพศเมียจะเข้าทำลายหนอนแมลงดำหนาม
  • การใช้สารเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็ว เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงเพาะชำ หรือต้นเล็ก
  1. หนอนหัวดำมะพร้าว เป็นศัตรูต่างถิ่นที่ระบาดเข้ามาในไทย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยาว 1-1.2 เซนติเมตร ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่งแนบตัวติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าวหรือในที่ร่ม

หนอนหัวดำมะพร้าวเข้าทำลายใบเฉพาะระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยตัวหนอนจะแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ จากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายทางใบหลายๆ ทาง มันจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะมีใบแห้ง และมีสีน้ำตาล หากรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

การป้องกันกำจัด

  • ตัดใบที่มีหนอนหัวดำลงทำลาย นำลงมาเผาหรือฝังทำลาย
  • การพ่นด้วยชีวภัณฑ์ บีที ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช อัตรา 80-100 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นละ 3-5 ลิตรให้ทั่วทรงพุ่ม และเครื่องพ่น ให้พ่น 3 ครั้งติดต่อกัน ห่างกันครั้งละ 7-10 วัน
  • การใช้แตนเบียนควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว แตนเบียนโกนิโอซัส นีแฟนติดีส แนะนำให้ปล่อย ตัวเต็มวัย อัตรา 50 – 100 ตัวต่อไร่ ปล่อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน หากสามารถปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัสได้มากจะทำให้เห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น
  • การควบคุมด้วยสารเคมีโดยวิธีฉีดเข้าลำต้น เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่พบหนอนหัวดำระบาดรุนแรง ห้ามใช้กับมะพร้าวที่มีลำต้นสูงน้อยกว่า 12 เมตร และไม่ให้ใช้ในมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ
4 ศัตรูแมลงมะพร้าว
โฉมหน้า…หนอนหัวดำ ด้วงแรด ด้วงงวง และแมลงดำหนาม

หมายเหตุ : ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โทร 02-5797580

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated