กรมส่งเสริมการเกษตร ชูความสำเร็จ แปลงใหญ่สับปะรดผลสดตำบลบ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี หลังวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นระบบ พร้อมนำสินค้าเข้าสู่ Modern Trade สร้างรายได้ตลอดทั้งปี ผลสดนำมาแปรรูปหลากหลายผลิตภัณฑ์ เส้นใยทำหมวก กระเป๋า และเสื่อ ส่วนเหง้าส่งตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ความงาม

สับปะรด ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกเป็นจำนวนมาก โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกคือพันธุ์ปัตตาเวีย  มีลักษณะเด่นคือมีรสชาดหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น กลิ่นหอม และเนื้อละเอียด เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากสับปะรดพันธุ์อื่นและแหล่งปลูกอื่น ๆ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกจะส่งขายตามตลาด และโรงงานต่าง ๆ ที่รับซื้อ ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ช่วยการันตีคุณภาพ และชูความหอมหวาน อร่อย ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น 

เมื่อเกษตรกรมีการปลูกสัปปะรดเพิ่มมากขึ้น ทำให้สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านคา เข้าให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ตำบลบ้านบึง มีการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่สับปะรดผลสดตำบลบ้านบึง ปัจจุบันมีนางสุรินทร์ ภักดี เป็นประธานแปลงใหญ่ มีสมาชิกจำนวน 38 ราย พื้นที่ปลูก 917 ไร่ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การเพิ่มปริมาณการผลิต การลดต้นทุน และการบริหารจัดการแปลงที่ดี ทำให้ที่ผ่านมาเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนจำนวนมาก เนื่องจากมีการต่อยอดจากขายเฉพาะผลสด เปลี่ยนมาเป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น สับปะรดกวน น้ำสับปะรด แชมพู สบู่ และเส้นใยยังนำมาทำเป็นหมวก กระเป๋า และกากของใบสับปะรดยังใช้บดสับเป็นอาหารให้แก่สัตว์เลี้ยงได้

นายสุพัฒน์  อ่อนคง เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านคา ได้เข้าให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตำบลบ้านบึง รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ในปี 2561 เนื่องจากเห็นศักยภาพของเกษตรกรว่าสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้านอกจากการขายผลสดได้ พร้อมสนับสนุนให้ผลผลิตได้คุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค จนได้รับรองมาตรฐานGAP และสับปะรดในอำเภอบ้านคา มีรสชาติหอมหวานเป็นเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง ด้วยเอกลักษณ์ดังกล่าวจึงทำให้สับปะรดของแปลงใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้กลุ่มมีการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีสินค้าป้อนสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน และมีทุนหมุนเวียน พร้อมส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้า เช่น การคั้นเป็นน้ำสับปะรดสดบรรจุใส่ขวดออกจำหน่าย เจลสับปะรดตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และการนำเส้นใยจากใบสับปะรดทำเป็นเสื่อ หมวก และกระเป๋า ส่วนเศษใบก็นำไปสับเป็นอาหารแก่วัวหรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ได้ พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเสริมให้มีการคัดขนาดผลสับปะรด เพื่อให้ได้ขนาดมาตรฐาน GMP ตามกระบวนการคัดแยก ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะ Modern Trade ที่ทางกลุ่มได้มีการทำ MOU ไว้ ซึ่งการทำ MOU เกิดจากแนวคิดเพื่อให้มีตลาดรองรับอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี อันส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรกรแปลงใหญ่สับปะรดผลสดตำบลบ้านบึง ได้เป็นอย่างดี

ด้าน นางสุรินทร์ ภักดี ประธานแปลงใหญ่สับปะรดผลสดตำบลบ้านบึง กล่าวว่า กลุ่มของเราได้มีการวางแผนการผลิตและการเก็บเกี่ยวเป็นรายเดือน เพื่อให้มีสับปะรดป้อนสู่ลูกค้าตลอดทั้งปี โดยสมาชิกกลุ่มทั้งหมดจะมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรุปและรายงานสถานการณ์การปลูก การเจริญเติบโต ปัญหาต่าง ๆ  และการเก็บเกี่ยวสับปะรดของแต่ละแปลง จากนั้นเราจะสรุปและรายงานช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่ลูกค้าได้ทราบ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่ามีผลผลิตให้อย่างแน่นอน ถือเป็นการยกระดับการจำหน่าย และสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกว่าสินค้าไม่ล้นตลาด และราคาไม่ตกต่ำอย่างแน่นอน

“ลูกค้ารายใหญ่ของเราคือห้างบิ๊กซี เป็นการจับมือค้าขายกันระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรสมาชิก และลูกค้า ว่าเกษตรกรมีรายได้จากการขายผลสดอย่างแน่นอน โดยมีการตกลงราคาซื้อขายกันล่วงหน้า ส่วนลูกค้าก็มั่นใจว่าทางเรามีผลผลิตส่งตรงเวลาและมีปริมาณเพียงพออย่างแน่นอน ถือเป็นความโชคดีของกลุ่มที่มีตลาดรองรับ ไม่ต้องกังวลว่าจะขายไม่ได้”

 ส่วนการเพิ่มมูลค่า จะนำผลสับปะรดที่ไม่ได้ขนาด หรือตกไซด์ มาทำเป็นสับปะรดกวน สับปะรดหยี สับปะรดสามรส น้ำคั้นสดบรรจุขวด และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น สบู่สับปะรด และแชมพู ส่วนใบ เส้นใย จะนำมาทำเป็นของใช้ภายในบ้าน เช่น เสื่อจากใบสับปะรด หรือทำเป็นกระเป๋า และหมวก เหง้านำมาทำเป็นสมุนไพรส่งตลาดสมุนไพรและบางส่วนส่งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมความงาม  นอกจากนี้เปลือก ใบสับปะรด ยังใช้บดทำเป็นปุ๋ย และอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ถือเป็นการใช้ทุกส่วนของผลผลิตให้เกิดมูลค่าตามนโยบายแปลงใหญ่ที่ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านคา มาให้คำแนะนำ

 สำหรับจุดคุ้มทุนอยู่ในระดับพอใจ เพราะสมาชิกทุกคนมีงานทำ มีรายได้ ได้ปลูกหรือผลิตผลไม้อย่างสับปะรดที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงเหมือนพืชผักอื่น ๆ และราคาที่ขายเป็นที่พอใจ ที่สำคัญไม่ต้องเสี่ยงกับสินค้าราคาตกต่ำ และล้นตลาดเหมือนผลไม้ชนิดอื่นที่ออกตามฤดูกาลในปริมาณที่มาก จนทำให้จำหน่ายไม่ทันและเกิดการเน่าเสีย แต่ของทางกลุ่มมีแผนการผลิต และแผนการตลาดที่ชัดเจน ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ โดยเฉพาะเกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated