ทำไมชาวนาจน 4 แนวทางแก้ปัญหาจาก ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
เมื่อไรชาวนาจะหายจน...คำว่าชาวนาไม่ได้แปลว่ายากจน?

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2504 มาถึงวันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปลายแผนที่ 11 ผลการพัฒนาตามแผนปรากฎว่าทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นและคนจนยิ่งจนลง สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง

คนที่อยู่ในกลุ่มคนจนส่วนใหญ่ได้แก่ เกษตรกร (ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน) ผู้ใช้แรงงาน และผู้หาเช้ากินค่ำ

คนที่มีฐานะอย่างไรจึงเรียกว่า “คนจน”  สหประชาชาติกำหนดว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลล่าร์ถือว่าเป็นคนยากจน ซึ่งไม่สอดคล้องกับคนจำนวนมากในโลกนี้ที่ยากจน

จากประสบการณ์ผมเห็นว่าคนที่ยากจนคือ “คนที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการกู้หนี้สะสมอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันมีเกษตรกรทั้งหมดประมาณเกือบ 7 ล้านครัวเรือนประกอบด้วย ชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน ชาวสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน ชาวไร่มันสำปะหลัง 0.5 ล้านครัวเรือน ชาวไร่ข้าวโพด 0.4 ล้านครัวเรือน ชาวไร่อ้อย 0.3 ล้านครัวเรือน ชาวสวนปาล์มน้ำมัน 0.1 ล้านครัวเรือน ที่เหลือเป็นชาวสวนอื่นๆ คิดเป็นประชากรที่ทำเกษตรกรรมทั้งหมดประมาณ 28 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 43 ของประชากรทั้งประเทศ

"เราอยู่ตรงนี้มานานแล้ว...เมื่อไรเราจะหายจน มีบ้านหลังใหญ่เสียที" ไม่ทราบว่าจะมีใครได้ยินบ้างไหม?
“เราอยู่ตรงนี้มานานแล้ว…เมื่อไรเราจะหายจน มีบ้านหลังใหญ่เสียที” ไม่ทราบว่าจะมีใครได้ยินบ้างไหม?

การที่ชาวนาส่วนใหญ่ยากจนมาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

1.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ประเทศไทยมีที่นาทั้งหมดประมาณ 71 ล้านไร่ เป็นที่นาลุ่มประมาณ 44 ล้านไร่ เป็นที่นาดอน ประมาณ 27 ล้านไร่ ผลิตข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรังประมาณ 38 ล้านเกวียน ผลิตข้าวได้เฉลี่ยทั้ง 71 ล้านไร่ เฉลี่ยไร่ละ 450 กิโลกรัม ในขณะที่เวียตนามผลิตข้าวได้เฉลี่ยไร่ละ 900 กิโลกรัม อินโดนีเซียผลิตข้าวได้เฉลี่ยไร่ละ 700 กโลกรัมเศษ ส่วนฟิลิปปินส์ผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 600 กิโลกรัมเศษ ของไทยผลิตได้เฉลี่ยใกล้เคียงกับพม่าและเขมร

2.ต้นทุนการผลิตสูง ปัจจุบันชาวนาไทยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงมาก ได้แก่ค่าเช่านา(บางส่วนยังต้องเช่านาทำ) ค่าไถที่นาและเตรียมดินสำหรับปลูกข้าว ค่าจ้างดำนาหรือหว่านข้าว ค่าปุ๋ยและค่าจ้างใส่ปุ๋ย ค่ากำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูข้าว ค่าสูบน้ำเข้านา ค่าเก็บเกี่ยวข้าวและค่านวดข้าว รวมทั้งค่าขนส่งข้าวไปขาย ในกรณีที่ต้องจ้างทั้งหมดจะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงมาก

3.ขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวนาสูงมากแต่ราคาขายที่ขายตามราคาตลาดโลกหักด้วยกำไรของพ่อค้าคนกลางและค่าใช้จ่ายในการซื้อขายของพ่อค้าคนกลางทั้งหมด ราคาที่ถึงมือชาวนาจึงต่ำกว่าต้นทุนของชาวนา ผลก็คือชาวนาต้องขายข้าวขาดทุนทุกฤดู ถ้าเป็นคนมีความรู้ทั่วไปคงทนขาดทุนได้ไม่เกิน 2-3 ครั้งก็คงถอดใจเลิกทำนา แต่สำหรับชาวนาไทยถึงแม้จะขาดทุนทุกฤดูก็ยังคงทำนาอยู่เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร? ในอนาคตถ้าชาวนามีความรู้และมีทางเลือกอื่นคงไม่มีใครเลือกขาดทุนซ้ำซากอยู่ทุกปีแบบนี้

ถ้าชาวนาทำนาขายข้าวขาดทุนอยู่ทุกปีแล้วมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร? คำตอบก็คือ “มีชีวิตอยู่ด้วยการกู้หนี้” วันนี้ชาวนามีหนี้สะสมที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆประมาณครัวเรือนละสองแสนกว่าบาท และไม่มีทีท่าว่าจะมีวันที่ใช้หนี้หมด

ดังนั้นชาวนาไทยส่วนใหญ่จึงจะอยู่ในกลุ่มคนยากจนตลอดไป รัฐบาลทุกรัฐบาลพยายามจะยกย่องว่า “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ”  นอกจากจะเป็นกระดูกสันหลังที่ผุแล้ว ยังเป็นกระดูกสันหลังที่ไม่มีอนาคตอีกด้วย

“ด้วยเหตุนี้ชาวนาที่ยากจนจึงตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองที่ฉ้อฉลตลอดมา” มันเป็นเช่นนี้จริงๆ

นโยบายของรัฐบาลที่ขอให้ชาวนารับสภาพความเป็นจริงที่ต้องขายข้าวตามราคาตลาดโลก หรือนโยบายของสภาหอการค้าที่เสนอให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด โดยรัฐบาลไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง แท้จริงก็คือ “นโยบายที่กดให้ชาวนาจมปลักอยู่กับความยากจนตลอดไป” นั่นเอง ไม่มีทางช่วยให้ชาวนาพ้นจากความยากจนได้ เพราะการขายขาดทุนทุกฤดูคือโซ่ตรวนที่ทำให้ต้องยากจนตลอดไป

แนวทางที่รัฐบาลเสนอมาเพื่อช่วยเหลือชาวนานั้นล้วนเป็นแนวทางที่พิสูจน์มาแล้วในอดีตว่า “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิงมาโดยตลอด รัฐบาลควรจะทบทวนให้ชัดเจนว่าในรอบ 50 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำอะไรหรือใช้มาตรการอะไรไปบ้างได้ผลแค่ไหน ทำไมชาวนาจำนวนมากจึงยากจนอยู่ แสดงว่าทุกอย่างที่ทำไปนั้นได้ผลน้อย หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาส่วนใหญ่ได้

มาตรการหรือสิ่งที่เคยทำมาแล้วถึง 50 ปีถ้าไม่ได้ผลก็ไม่ควรทำซ้ำซากต่อไป เพราะจะเป็นการสูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์

คำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้คือ มาตรการต่างๆที่รัฐบาลดูแลชาวนามา 50 ปีทำไมชาวนาจึงยังไม่มีความรู้ในเรื่องการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุนการผลิต? ทำไมชาวนาจึงยังปลูกข้าวด้วยต้นทุนที่สูงและผลผลิตต่ำ? ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ก็แก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาไม่ได้

ให้ความรู้ชาวนา
การให้ความรู้แก่ชาวนาเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้หายจน

แนวทางในการแก้ไขความยากจนของชาวนาไม่ต้องการความคิดที่วิเศษวิโสอะไร เป็นความคิดพื้นๆแต่ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้นั่นคือ

1.ต้องทำให้ชาวนามีความรู้ ความสามารถในการเพิ่มผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

2.ต้องทำให้ชาวนามีความรู้ ความสามารถในการลดต้นทุนการผลิต

3.ต้องทำให้ชาวนามีความรู้ในการเลือกพันธุ์ข้าวที่ให้ผลตอบแทนสูง

4.ต้องทำให้ชาวนาขายข้าวได้กำไรในอัตราที่เหมาะสม ไม่ใช่ขายข้าวขาดทุนทุกปี ถ้าอาชีพทำนาต้องขายข้าวขาดทุนทุกปี เมื่อไหร่ที่ชาวนามีความรู้และมีทางเลือกอื่นชาวนาก็จะเลิกทำนา ไม่มีคนที่มีความรู้ที่ไหนจะเลือกอาชีพที่ต้องขาดทุนทุกปีหรอกครับ ถามตัวท่านเองก็ได้ถ้าท่านทำเองและต้องขาดทุนทุกปีท่านจะยังคงทำอยู่ต่อไปไหม?

แนวทางดังกล่าวถ้ารัฐบาลทำให้เป็นจริงได้ก็จะแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาได้ และแนวทางดังกล่าวมีหลายประเทศที่ทำสำเร็จและชาวนาของเขาเลิกจน

ชาวนาที่ยากจนเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอของสังคม ไม่มีประเทศไหนแก้ไขความยากจนของชาวนาได้โดยให้ชาวนาช่วยตัวเองแบบต่างคนต่างอยู่แบบที่รัฐบาลไทยทำมาโดยตลอด ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลก็รู้ถึงกับจัดตั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์มาดูแล เพื่อให้ชาวนารวมตัวกันเป็นสหกรณ์จะได้มีความเข้มแข็ง ซึ่งสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งมากและทำให้เกษตรกรญี่ปุ่นเลิกยากจน แล้วทำไมสหกรณ์การเกษตรของไทยส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จ

การแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาให้ประสบความสำเร็จต้องจัดตั้งองค์กรชาวนาให้เข้มแข็งให้ประสบความสำเร็จ ให้ชาวนาเรียนรู้ร่วมกันพัฒนาร่วมกันให้เป็นชาวนามืออาชีพในที่สุด

“ชาวนามืออาชีพหมายถึงชาวนาที่มีความรู้ในการเพิ่มผลผลิต มีความรู้ในการลดต้นทุนการผลิต มีความรู้ในการเลือกปลูกพันธ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด มีความรู้ที่จะขายผลผลิตให้คุ้มค่า”

องค์กรชาวนาจะต้องจัดทำระบบข้อมูลการผลิตที่เที่ยงตรง ทั้งเรื่องสมาชิกขององค์กร พื้นที่ทำนา หนี้สิน พันธ์ที่ใช้ปลูก ชนิดปุ๋ยที่เลือกใช้ ยากำจัดศัตรูข้าว ช่วงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวข้าว ปริมาณข้าวที่ผลิตได้และต้นทุนการผลิต

มีองค์กรชาวนาระดับชาติที่จะรวบรวมข้อมูลการผลิตของชาวนาทั้งประเทศเพื่อใช้ในการจัดการของชาวนาและของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดการเรื่องราคาข้าว เพื่อให้ชาวนามีผลตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวนาขาดทุน

นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้ชาวนาที่ทำนาในที่ดอนที่มีผลผลิตต่ำเปลี่ยนไปผลิตอย่างอื่นที่มีผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า เรื่องนี้ถึงแม้ทำยากแต่ก็ทำได้ มาตรการนี้จะลดปัญหาข้าวล้นตลาด ทำให้การดูแลเรื่องราคาข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวทางนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน คำถามก็คือรัฐบาลไหนจะทำให้เป็นจริง???

(เรื่องโดย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ /เฟซบุ๊ก Prof. Sombat Thamrongthanyawong, Ph.D)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated