กรมประมง..เร่งแผนเพิ่มผลผลิต “ปลาบู่” ทดแทนจับจากธรรชาติ หนุนเกษตรกรเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
กรมประมง..เร่งแผนเพิ่มผลผลิต “ปลาบู่” ทดแทนจับจากธรรชาติ หนุนเกษตรกรเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์

กรมประมง…เดินแผนเร่งปั้นผลผลิตลูกพันธุ์ “ปลาบู่” ฟื้นฟูทดแทนการจับจากธรรมชาติ พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรไทยได้นำไปเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ สร้างโอกาสเพื่อรองรับการขยายฐานตลาดเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการแข่งขันให้กับสินค้าสัตว์น้ำไทย 

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีนโยบายให้ความสำคัญกับการศึกษา วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูและทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันบางชนิดมีปริมาณลดน้อยลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดให้เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงทั้งด้านการผลิตการแปรรูป รวมถึงเปิดช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

ปลาบู่ หรือบู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต มีชื่อสามัญว่า Sand Goby, Marbled Sleepy Gobyพบการอาศัยได้ในบริเวณพื้นที่น้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู ได้แก่ บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน และไทย ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม โดยผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งในรูปแบบมีชีวิต แช่เย็น และสัตว์น้ำสวยงาม และด้วยความต้องการของปลาบู่ โดยเฉพาะจากตลาดต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำให้ปลาบู่มีราคาสูงขึ้น โดยขนาด 800 กรัม กิโลกรัมละ 370 บาท กรมประมงจึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดเร่งเพาะขยายพันธุ์พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำลูกพันธุ์ไปเลี้ยง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค  ซึ่งจะช่วยลดการจับจากธรรมชาติ และทำให้การประกอบอาชีพเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้น

นางสาวแสงเดือน นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฯ ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้นำพ่อแม่พันธุ์ขนาด 200-300 กรัม จำนวน 23 คู่ มาเพาะขยายพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร และใช้กระเบื้องแผ่นเรียบขนาด 30×30 เซนติเมตร ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำเป็นกระโจมสามเหลี่ยมมาวางไว้รอบบ่อเพื่อให้แม่ปลาวางไข่ พร้อมทำการตรวจการวางไข่ทุก 3 วัน จากกระเบื้องทุกแผ่น หากพบเห็นการวางไข่ให้รีบนำขึ้นไปฟักในบ่ออนุบาลทันที โดยไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ 3 วัน จากนั้นอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์เป็นอาหาร และเมื่อลูกปลาอายุ 15 วัน เริ่มให้ไรแดงเป็นอาหาร เมื่อลูกปลาโตขึ้นมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร จึงให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยพบว่าอัตราการรอดของลูกปลาอยู่ที่ร้อยละ 77.52  

ทั้งนี้ ในปี 2565 ทางศูนย์ฯ สามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาบู่ขนาด 1 นิ้ว ให้เกษตรกรชุดแรกแล้วจำนวน 10,000  ตัว และในปี 2566 ตั้งแผนที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ถึง 42,000 ตัว
เพื่อขยายผลประโยชน์ทั้งทางด้านการอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์ต่อไป

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า  กรมประมงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ปลาบู่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยได้สนับสนุนการศึกษา วิจัย เพื่อปรับเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตลูกพันธุ์ปลาบู่ให้มีอัตรารอดที่สูงขึ้น พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการเพาะเลี้ยงแก่เกษตรกร รวมถึงส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ และสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจประมงในอนาคต

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated