“เพลี้ยไฟมังคุด” อันตราย กรมส่งเสริมการเกษตร แนะสำรวจสวน
“เพลี้ยไฟมังคุด” อันตราย กรมส่งเสริมการเกษตร แนะสำรวจสวน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้บางพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของมังคุดในระยะแตกใบอ่อนและระยะออกดอกแล้ว ซึ่งสภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนจัด อุณหภูมิสูงและแห้งแล้ง เสี่ยงต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยสังเกตยอดอ่อนหรือใบอ่อน หากมีอาการแห้ง หงิกงอ ใบไหม้ และดอกหรือผลอ่อนร่วง ส่วนผลที่ไม่ร่วงจะเห็นรอยแผลชัดเจนแสดงถึงการถูกทำลายโดยเพลี้ยไฟมังคุดเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยง ให้รีบกำจัดเพื่อป้องกันผลกระทบในวงกว้าง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

สำหรับลักษณะของเพลี้ยไฟ ตัวเต็มวัยจะมีลำตัวยาว 0.6 มิลลิเมตร มีสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 22 วัน โดยตัวเมียแต่ละตัววางไข่ได้เฉลี่ย 60 ฟอง ลักษณะไข่คล้ายเมล็ดถั่วสีขาว ขนาด 0.2 มิลลิเมตร โดยมักวางไข่ในเนื้อเยื่อของพืชบริเวณใกล้เส้นกลางใบ ใช้ระยะเวลา 6 – 9 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชและเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ต่อไป ส่งผลทำให้ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน แสดงอาการแห้งและหลุดร่วง ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตมังคุด รวมทั้งผลอ่อนที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายตั้งแต่เล็กจะทำให้เกิดรอยแผลบนผลอ่อน และเมื่อผลพัฒนาขึ้นรอยแผลจะขยายใหญ่ จนเห็นลักษณะเป็นแผลขรุขระสีน้ำตาล หรือเรียกว่า ผิวขี้กลาก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของมังคุดอีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแนวทางการป้องกันและแก้ไข เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนมังคุดอย่างสม่ำเสมอร รวมทั้งอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ เพลี้ยไฟตัวห้ำ ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสและแมงมุมชนิดต่าง ๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เพลี้ยไฟเจริญเติบโตเข้าทำลายแปลงปลูกได้ ซึ่งหากสำรวจสวนแล้วพบการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ ไม่มากหรือไม่รุนแรงนัก ให้ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ทรงพุ่มของมังคุด โดยหมั่นพ่นน้ำในระยะออกดอกจนถึงระยะติดผลอ่อนทุก 2 – 3 วัน เนื่องจากเพลี้ยไฟจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพที่มีความชื้นสูง

สำหรับตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟนั้น เกษตรกรสามารถใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 24 นิ้ว ยาว 26 นิ้ว จำนวน 4 กับดักต่อต้น ติดตั้งในสวนมังคุดได้ตั้งแต่มังคุดเริ่มแตกใบอ่อน เพื่อทำลายตัวเต็มวัยไม่ให้ผสมพันธุ์และเข้าวางไข่ทำลายยอดอ่อนของต้นมังคุดได้ ทั้งนี้ หากเกิดกรณีเข้าทำลายในวงกว้างหรือรุนแรงแล้ว เกษตรกรควรพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง โดยใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่ สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 20 มล./ น้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10%SC อัตรา 30 มล./ น้ำ 20 ลิตร หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 50 มล./ น้ำ 20 ลิตร  เป็นต้น

อีกทั้งควรพ่นสารแบบหมุนเวียนตามกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ โดยใช้รอบการหมุนเวียนทุก 14 วัน เมื่อพบการระบาด และเพื่อชะลอความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง รวมทั้งควรพ่นให้ทั่วถึงทั้งลำต้น มิเช่นนั้นแมลงจะเคลื่อนย้ายหลบซ่อนไปยังบริเวณที่พ่นไม่ถึงได้ และจะต้องคำนึงถึงการปรับละอองฝอยหัวฉีดและระยะเวลาการพ่นด้วย ซึ่งสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated