นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงระยะนี้ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะทำให้มีสภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้งทั่วประเทศ ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวทำให้ไรแดงสามารถเจริญเติบโตได้มาก โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบมันสำปะหลัง ทำให้หน้าใบเกิดจุดประด่างขาว โดยเฉพาะตามแนวเส้นใบ และขยายวงกว้างขึ้นจนกระทั่งใบมันเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวซีด กระด้าง กรอบ หากมีการระบาดรุนแรงใบจะหลุดร่วงได้ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสร้างหัวของมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันกำจัดไม่ให้ไรแดงเข้าทำลายแปลงเพาะปลูก ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตร โดยไรแดงที่พบว่าเข้าทำลายมันสำปะหลังมี 3 ชนิดสำคัญ ได้แก่

1) ไรแดงหม่อน จะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ ทำลายใบแก่ หากแพร่กระจายจำนวนมากจะเคลื่อนย้ายไปยังส่วนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น จะสังเกตเห็นจุดประขาว ใบเหลืองซีด ใบลู่ลง เหี่ยวแห้ง และหากเข้าทำลายมันสำปะหลังอายุ 1 – 3 เดือนอาจทำให้ต้นแห้งตายได้

 2) ไรแดงชมพู่ มักดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหน้าใบไม่สร้างเส้นใย และสามารถสังเกตเห็นใบเป็นจุดประขาวซีด

และ 3) ไรแมงมุมคันซาวา จะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ สร้างเส้นใย ปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัย หากแพร่กระจายจำนวนมาก จะสังเกตเห็นใบไหม้ ขาดเป็นรู โดยเฉพาะบริเวณ ใกล้เส้นกลางใบ อาจทำให้มันสำปะหลังไหม้ทั้งแปลงและแห้งตายได้

 อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดไรแดง นอกจากหมั่นตรวจแปลงปลูกในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้งแล้ว หากเกษตรกรตรวจพบอาการคล้ายกับการเข้าทำลายของไรแดงให้เก็บใบมันสำปะหลังไปทำลาย และเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ไรตัวห้ำ ด้วงเต่าสตีธอรัส และด้วงเต่าปีกสั้นเพื่อช่วยในการควบคุมการระบาด

กรณีพบแพร่กระจายจำนวนมาก ให้พ่นสารป้องกันกำจัดไร ตามอัตราที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ เช่น เฮกซีไทอะซอกซ์ 1.8% EC อัตรา 100 มิลลิลิตร หรือทีบูเฟนไพแรด 36% EC อัตรา 5 – 10 มิลลิลิตร หรือไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 – 15 กรัม หรือไซฟลูมิโทเฟน 20% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร หรือสไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบไรแดงทำลายบริเวณใบส่วนยอด และใบส่วนล่างเริ่มเหี่ยว โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น ใต้ใบ และบนใบ จำนวน 1 – 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน นอกจากนี้ไรแดงยังเป็นศัตรูทำลายพืชอีกหลายชนิด ได้แก่พืชตระกูลแตง พืชผัก เป็นต้น

ดังนั้น ในช่วงอากาศร้อนยาวนานเกษตรกรจึงควรเฝ้าระวังศัตรูชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง และหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated