นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ส้มปลอดภัย “Safe Use Safe Orange”
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ส้มปลอดภัย “Safe Use Safe Orange”

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการผลิตส้มปลอดภัย จึงได้ดำเนินโครงการรณรงค์เฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผลผลิตส้มขึ้น เพื่อส่งเสริมการผลิต และการจัดการสินค้าเกษตรด้วย BCG Model เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรผลิตส้มปลอดภัย ส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มดำเนินการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน รวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) นำเกษตรกรเข้าสู่การควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีแนวทางพัฒนาสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตรไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย

โดยล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตรสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไทท้า) และภาคเอกชน ร่วมจัดงานรณรงค์เกษตรกรร่วมใจผลิตส้มปลอดภัย “Safe Use Safe Orange” ขึ้น ณ ที่ทำการสำนักงานกลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่ปลูกส้มได้รับทราบวิธีการจัดการพื้นที่ปลูกอย่างปลอดภัย โดยมีการเสวนาพิเศษ “ชี้ช่องส่องตลาด…ส้มไทย จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค” โดย ตลาดไท บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และบริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้ง

นอกจากนี้ยังจัดให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมงานเข้าฐานเรียนรู้ ดังนี้ 1) การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย 2) ชัวร์ก่อนใช้ เช็คก่อนทิ้ง 3) การป้องกันกำจัดศัตรูส้มโดยวิธีผสมผสาน 4) การจัดการดินและปุ๋ยในสวนส้ม 5) ระบบตรวจรับรองแปลงมาตรฐาน GAP แบบดิจิทัล 6) การใช้โดรนทางการเกษตร อีกทั้งยังมีการให้บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในส้ม

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย หลากหลายสายพันธุ์ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 128,046 ไร่ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย กำแพงเพชร แพร่ และจังหวัดเชียงราย มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ แต่เกษตรกรผู้ปลูกส้มต้องประสบกับปัญหาโรคและแมลงศัตรูส้มรบกวน

ดังนั้น การปลูกและดูแลสวนส้ม เกษตรกรจึงต้องใส่ใจในทุกขั้นตอนและให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกส้ม คือ ดินต้องเป็นดินร่วน มีความซุยในดินดี น้ำต้องถึงไม่ขาด และการให้ธาตุอาหารที่สมบูรณ์เป็นเรื่องสำคัญ ปุ๋ยที่ให้กับส้มควรมีธาตุอาหารที่ตรงตาม ความต้องการของส้ม รวมถึงการใช้สารเคมีในป้องกันกำจัดศัตรูพืชในส้ม หากเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ก็จะอาจก่อให้เกิดสารตกค้างในผลผลิต และเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม กระทบกับการส่งออกได้

นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดเชียงใหม่นับเป็นแหล่งปลูกส้มสายน้ำผึ้งที่มีปริมาณผลผลิตมากและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกส้มจำนวน 38,029 ไร่ ผลผลิตประมาณ 144,406 ตัน โดยให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ส้มมีรสชาติอร่อยที่สุด และมีสีส้มสวยที่สุด ในส่วนสถานการณ์การผลิตส้มสายน้ำผึ้งของอำเภอฝาง ปี 2565/66 มีพื้นที่ปลูกส้ม จำนวน 17,939 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 16,969 ไร่ ในพื้นที่ 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลเวียง ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลสันทราย ตำบลแม่สูน ตำบลแม่คะ ตำบลแม่งอน ตำบลแม่ข่า และตำบลม่อนปิ่น ซึ่งทั้ง 8 ตำบล ให้ผลผลิตส้มมากกว่า 76,360 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 4,500 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะของผลส้มสายน้ำผึ้งอำเภอฝางจะมีมีผิวสีเหลืองทองอร่ามสวยเมื่อสุกได้ที่ เนื้อแน่นน้ำเยอะมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ คือ รสจัดจ้าน กลมกล่อม หวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่หวานจืด ชานนิ่ม ดินในเขตพื้นที่อำเภอฝาง ค่อนข้างจะมีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ เป็นดินแดนสายน้ำแร่ธรรมชาติ แหล่งน้ำมาจากแหล่งน้ำแม่ใจและเป็นดินที่มีแร่ธาตุจากภูเขาไฟ มีน้ำแร่ผสมอยู่ เนื่องจากเป็นเขตภูเขาไฟเดิม อากาศร้อนสลับหนาวในช่วงปลายปีซึ่งเป็นอากาศที่ส้มค่อนข้างชอบ พื้นที่เป็นภูเขาสูง เป็นหุบเขา มีอากาศไหลผ่านหมุนเวียน และมีความชื้นจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกส้มสายน้ำผึ้งมากที่สุด ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมเสนอส้มสายน้ำผึ้งโป่งน้ำร้อนฝาง เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้เพิ่มให้ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำเกษตรกรให้สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายของศัตรูพืช ให้จัดการโดยวิธีผสมผสาน (IPM) ได้แก่ 1) วิธีเขตกรรม : การปรับสภาพดิน การตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง 2) วิธีกล :
การตัดกิ่งหรือผลที่พบการเข้าทำลายของโรคและแมลงนำไปเผาทำลาย การใช้กับดักกาวเหนียว 3) วิธีฟิสิกส์ : การใช้กับดับแสงไฟล่อตัวเต็มวัยไปทำลาย 4) ชีววิธี : การใช้ศัตรูธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน จุลินทรีย์ รวมถึงการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในบริเวณสวนส้ม 5) สารสกัดธรรมชาติ : การใช้สารสะเดา หางไหล 6) สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช : กรณีพบการระบาดของศัตรูพืชค่อนข้างรุนแรงในบริเวณกว้าง โดยใช้สารเคมีตามหลัก 3 ถูก คือ ถูกชนิด ถูกเวลา และถูกวิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมหรือเฉพาะเจาะจงกับชนิดของศัตรูพืช และสอดคล้องกับแต่ละระยะของส้ม ตามชนิดและอัตราที่แนะนำ เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชในพื้นที่นั้น ลดความเสี่ยงต่อคน และรบกวนระบบนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด มีการสลับกลุ่มสารเคมี ไม่ใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนาน เพราะส่งผลให้แมลงเกิดการดื้อยา (Insect Pesticide Resistance) ต้องใช้ตามหลักวิชาการที่เจ้าหน้าที่แนะนำ หรือตามฉลากเคมีภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายห้ามใช้สารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายที่ประกาศห้ามใช้ทางการเกษตรโดยเด็ดขาด

สำหรับวิธีการปฏิบัติก่อนการเก็บเกี่ยว 1) การเข้าทำลายของแมลงจะลดลงในระยะส้มผลแก่ จึงควรงดใช้สารเคมี 2) เก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย หรือเว้นระยะเวลาก่อนการเก็บเกี่ยว ภายหลังการใช้สารเคมี (PHI) ตามคำแนะนำ หรือตามที่ระบุในฉลาก เพื่อลดปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิต 3) สุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาสารเคมีตกค้างด้วยชุดทดสอบแบบง่ายโดยเจ้าหน้าที่หรือเกษตรกรสามารถตรวจเองได้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated