ทุเรียนนนทบุรีจะกลับมาอีกครั้งบนความท้าทาย?? เกษตรกรรุ่นใหม่ทุ่มเทสุดหัวใจ
ทุเรียนนนทบุรีจะกลับมาอีกครั้งบนความท้าทาย?? เกษตรกรรุ่นใหม่ทุ่มเทสุดหัวใจ

หลังน้ำท่วมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “เกษตรก้าวไกล” ก็ตระเวนตามสวนทุเรียนย่านปากเกร็ด นนทบุรี พบว่าหลายสวนได้รับผลกระทบ แต่ก็มีอยู่สวนหนึ่งที่ป้องกันน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนอย่างน่าพอใจ นั่นก็คือ “สวนทุเรียนนนท์ ตาเชน” ตั้งอยู่ ตั้งอยู่ซอยบางเลน 21/2 ซอยแสงจันทร์ สุดซอย ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เจ้าของชื่อ “ตาเชน” หรือ คุณวัชรเชนทร์ คืบขุนทด เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการสวนผสมผสานกับภูมิปัญญาทุเรียนนนท์ ฤดูกาลที่ผ่านมาทุเรียนให้ผลผลิตเป็นปีแรก แต่กว่าจะมีผลผลิตได้เป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

ตาเชน เล่าว่าตนเป็นคนชอบทานทุเรียนเป็นอย่างมาก ทราบข่าวทุเรียนที่ไหนอร่อยก็มักสั่งซื้อมาทาน โดยเฉพาะทุเรียนนนท์ที่ว่าลูกละเป็นหมื่นก็เคยซื้อทานมาแล้ว

สวนทุเรียนนนท์ ตาเชน มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ได้เริ่มต้นปลูกทุเรียนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โดยอายุทุเรียนที่เห็นมีทั้งพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว มูซานคิง ฯลฯ ปัญหาที่ประสบในการปลูกทุเรียน คือ น้ำท่วมและน้ำเค็มหนุน จึงต้องทำเขื่อนยกคันดินสูงรอบสวน พร้อมใช้กระสอบทรายทำเป็นกำแพงล้อมรอบบนคันดินอีกที ซึ่งในช่วงน้ำท่วมเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ต้องใช้กระสอบทรายประมาณ 5,000 กระสอบ เพื่ออุดคันเขื่อนให้แน่นหนากว่าเดิมและสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่ก็ต้องคอยดูดน้ำเค็มที่เล็ดลอดเข้ามาไม่ให้น้ำจากภายนอกไหลเข้าสู่ภายในสวนไม่งั้นต้นทุเรียนจะตายได้

“การปลูกทุเรียนนนทบุรีให้ออกลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ยอมรับว่าทำยาก ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ คิดใหม่ทำใหม่ หยุดนิ่งไม่ได้ แต่พอผ่านไปปีที่ 3 ปีที่ 4 ก็เริ่มจับทางได้ และฤดูกาลที่ผ่านมาทุเรียนให้ผลผลิตเป็นปีแรก รสชาติหวานมันอร่อยสมความตั้งใจครับ”

นอกจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็มหนุน ยังมีปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศร้อนอบอ้าว ต้องปลูกต้นทองหลางเป็นร่มเงาให้ทุเรียนในช่วงหน้าร้อน แต่พอหน้าฝนก็ตัดกิ่งทองหลางไม่ให้บังแสงแดด เพื่อให้ทุเรียนเติบโตอย่างเต็มที่ และยังมีเรื่องปุ๋ยจะเน้นการใช้ขี้วัววางไว้ทั้งกระสอบใต้โคนต้น และแกะกระสอบโรยขี้วัวรอบๆทรงพุ่มเมื่อเห็นว่าขี้วัวหมักได้ที่ดีแล้ว โดยใช้เวลาหมักแบบธรรมชาติทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี

ในเรื่องของโรคแมลง เน้นการใช้ปูนแดงทารอบต้น ซึ่งพบว่ามีปัญหาน้อยลง เน้นการใช้อินทรีย์ไม่ใช้เคมี ยกเว้นช่วงแตกใบอ่อนอาจจะต้องใช้เคมีร่วมบ้าง

ท่านที่สนใจจะศึกษาเรื่องการปลูกทุเรียนนท์ สามารถชมเพิ่มได้จากคลิปที่นำมาเสนอตามลิงก์นี้ 

(คลิปนี้ นำมาจากการLIVEสด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 65 – เชิญชมกันให้จุใจ)

จากการพูดคุยกับตาเชนยินดีที่จะแบ่งปันความรู้ โอกาสหน้าเกษตรก้าวไกลจะได้ไปถ่ายทำมาให้ชมกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในฤดูกาลทุเรียนที่กำลังจะมาถึง เพื่อติดตามผลว่าจากฝีมือการจัดการจะสามารถทำทุเรียนได้เป็น 100 ลูก ตามที่มุ่งมั่นได้หรือไม่?

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated