เขาเป็นใคร? “สานนท์ พรัดเมือง” เจ้าของรางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่น ปี 2565
เขาเป็นใคร? “สานนท์ พรัดเมือง” เจ้าของรางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่น ปี 2565

กรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศมอบรางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่นประจำปี 2565 ให้กับเกษตรกรที่ชื่อ “สานนท์ พรัดเมือง” โดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2565 ในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรมีอายุครบ 50 ปี มีการจัดงานแถลงผลงานทางวิชาการอย่างยิ่งใหญ่ และได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นที่ผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับชื่อของ “สานนท์ พรัดเมือง” ในโลกออนไลน์อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยกันมากนัก ทั้งที่จริงๆแล้ว เขาเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ปี 2565 โดยกรมส่งส่งเสริมการเกษตรได้ทำคลิปเผยแพร่บนยูทูปมาก่อนหน้านี้

ผลงานของนายสานนท์ ก่อนที่จะได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ก็คือ การเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน บนพื้นที่ 10 ไร่ ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายสานนท์ได้ทำสวนทุเรียนด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะผลิตทุเรียนให้มีรสชาติอร่อย ผลผลิตมีคุณภาพ คงไว้ซึ่งมาตรฐาน ภายใต้แนวความคิดพัฒนาและแบ่งปันความรู้

เดิมประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางและรับซื้อเศษยางเป็นระยะเวลา 5 ปี ในเวลาต่อมาผู้ประกอบการมากขึ้น ราคายางลดลง จึงเปลี่ยนแนวคิด ตัดสินใจซื้อที่ดินจำนวน 12 ไร่ และได้ทดลองปลูกทุเรียน ในตอนแรกเกิดปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคแมลง ผลผลิตมีน้ำหนักน้อยไม่มีคุณภาพ และสภาพต้นโทรมจึงได้วิเคราะห์หาสาเหตุ จนมีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าว จึงตัดสินใจโค่นยางพารา 7 ไร่เพื่อปลูกทุเรียนทั้งหมด และยื่นขอรับรองแหล่งผลิตทุเรียนกับ สวพ.7 ในปี 2557 และได้การรับรองแหล่งผลิต GAP กับกรมวิชาการเกษตร จนปัจจุบันเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบความสำเร็จในเรื่องการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ และเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “สวนคุณสานนท์ สามารถเลือกที่จะขายกับล้งไหนก็ได้ เพราะผลผลิตทุเรียนที่ออกจากสวนคุณสานนท์เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ”

ในระบบการผลิต นายสานนท์ ให้น้ำโดยใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ สั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ การติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งไฟแสงสว่างในสวน ปิด-เปิดผ่านโทรศัพท์เช่นกัน มีการเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในกระบวนการผลิต และมีการเก็บตัวอย่างดินจากอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ก่อนการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแต่ละครั้ง มีการศึกษาการเข้าทำลายของศัตรูพืชแต่ละชนิดกับระยะการเจริญเติบโตของพืช และมีการสำรวจโรคแมลงศัตรูพืชก่อน เพื่อจะได้ใช้กลุ่มใช้สารเคมีที่ถูกต้อง และใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรตามความจำเป็น ใช้วิธีการตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แล้วนำเศษพืช วัชพืชทำปุ๋ยหมัก มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชในดินและยังช่วยทำให้ดินโปร่งร่วนซุย ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อรักษา ป้องกัน โรครากเน่า โคนเน่าในทุเรียน ใช้เชื้อบาซิลลัสกำจัดหนอนและยังสามารถใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ศัตรูพืชหลายชนิดที่ดื้อต่อสารเคมีได้ดี ใช้เชื้อบิวเวอเรีย เมทาไรเซียม น้ำส้มควันไม้ ป้องกันกำจัดหนอนและแมลงได้หลากหลายชนิด ทั้งแมลงปากกัดและปากดูด

นอกจากนี้ยังมี การประยุกต์รถพ่นสารเคมี จากเดิมเป็นรถตุ๊ก ๆ ซึ่งมีกำลังน้อยไม่สามารถใช้ในพื้นที่สวนของตนเองได้ จึงได้นำรถยนต์ 4 ประตูซึ่งมีกำลังมากมาปรับใช้เพื่อลดการใช้แรงงานคนและเพื่อความปลอดภัยของผู้พ่น พร้อมกับมีการวางแผนการผลิตทุกปี เน้นให้ผลผลิตออกในช่วงที่ผลผลิตอื่นไม่มีออกสู่ตลาด และพัฒนาคุณภาพเพื่อการส่งออก จึงสามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อได้

ผลงานของนายอานนท์จึงนับว่าน่าสนใจที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ โดย “เกษตรก้าวไกล” หวังว่าจะมีโอกาสไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนในโอกาสต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated