นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร ใช้เทคโนโลยีพัฒนาเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำกึ่งอัตโนมัติโรยตามแนวปลายทรงพุ่มสวนทุเรียน โชว์ความสามารถการทำงานเฉลี่ย 6.28  ไร่/ชั่วโมง เปรียบทียบวิธีการใส่ปุ๋ยด้วยแรงงานคน 1.6 ไร่/ชั่วโมง ชูเครื่องใส่ปุ๋ยเคมีกึ่งอัตโนมัติแม่นยำใส่ปุ๋ยได้ตามความต้องการของทุเรียน ลดต้นทุนทั้งปุ๋ยและแรงงาน ช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่าจ้างหว่านด้วยมือถึง 20 เท่า

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ จากข้อมูลการส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 14 กรกฎาคม 2565 ไทยส่งออกทุเรียนผลสดแล้วปริมาณรวม 648,572 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 68,973 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์การส่งออกทุเรียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีราคาผลผลิตดีกว่าไม้ผลอื่น ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีปรับพื้นที่เพื่อปลูกทุเรียนมากขึ้น มีพื้นที่ปลูกใหม่และปรับรูปแบบการปลูกเป็นแบบยกร่อง หรือ พูนโคน รวมทั้งมีการปรับระยะปลูกเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุเรียนเป็นไม้ผลยืนต้นมีอายุมากกว่า 10 ปี ให้ผลผลิตได้หลายครั้ง ขั้นตอนการดูแลบำรุงรักษาจึงเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับพืชประเภทนี้ ปัจจุบันเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับการดูแลบำรุงรักษาที่ใช้งานสำหรับทุเรียนยังขาดแคลน โดยเฉพาะในขั้นตอนการใส่ปุ๋ยที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งเครื่องจักรกลเกษตรที่มีความแม่นยำจะช่วยให้สามารถใส่ปุ๋ยได้ตามความต้องการของทุเรียนและลดต้นทุนด้านแรงงานและต้นทุนปุ๋ย คณะนักวิจัยศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม  จึงได้คิดค้นนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำ โดยใช้รถแทรกเตอร์ขนาด 27 แรงม้าเป็นต้นกำลัง เพื่อใช้งานใส่ปุ๋ยในสวนทุเรียนที่มีระยะปลูกเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร เป็นต้นแบบที่ใช้ไมโครคอลโทลเลอร์ควบคุมการทำงานของชุดใส่ปุ๋ยแบบจานเหวี่ยง และใช้เซนเซอร์แบบอัลตร้าโซนิค ควบคุมตำแหน่งที่ต้องการใส่ปุ๋ย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เครื่องใส่ปุ๋ยเคมีกึ่งอัตโนมัติมีความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 6.28 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 0.14 ลิตรต่อไร่ อัตราปุ๋ย 12.6 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับทุเรียนอายุ 5 ปี ที่ความเร็วรอบจานหว่าน  300 รอบต่อนาที การกระจายตัวของปุ๋ยมีระยะห่างจากตัวรถแทรกเตอร์ 1.2 เมตร ความยาวตามแนวการวิ่งของรถแทรกเตอร์ 3.5 เมตร กว้าง 2 เมตร จากการวิเคราะห์ต้นทุนในการใช้งานต้นแบบเครื่องใส่ปุ๋ยราคา 50,000 บาท รถแทรกเตอร์ขนาด 27 แรงม้า 300,000 บาท แทรกเตอร์สามารถใช้งานใส่ปุ๋ยและพ่นสาร แบ่งสัดส่วนการใช้งานเป็น 50% อายุการใช้งานรถแทรกเตอร์ 10 ปี อายุการใช้งานเครื่องใส่ปุ๋ย 8 ปี ความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 6.28 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 0.14 ลิตรต่อไร่ จุดคุ้มทุนของการใช้เครื่องใส่ปุ๋ยพ่วงรถแทรกเตอร์ 354 ไร่ต่อปี ระยะเวลาคืนทุน 2.32 ปี เปรียบทียบกับวิธีการใส่ปุ๋ยด้วยแรงงานคน ความสามารถในการทำงาน 1.6 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราค่าจ้างแรงงานในการใส่ปุ๋ยวันละ 300 บาท จะเห็นได้ว่า การลงทุนใช้เครื่องจักรกลเกษตร สามารถทำงานได้เร็วขึ้น 3.9 เท่า  เกษตรกรมีรายได้ต่อปีมากกว่าการรับจ้างหว่านด้วยมือถึง 20 เท่า

ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ได้มีการเผยแพร่เครื่องใส่ปุ๋ยเคมีกึ่งอัตโนมัติโดยร่วมจัดนิทรรศการในงานพืชสวนก้าวหน้าที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี พร้อมกับได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการปลูกทุเรียนในเขตจังหวัดจันทบุรีที่มีสภาพแปลงและรูปแบบการปลูกที่เหมาะสมต่อการใช้เครื่องจักรกลเกษตร ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 039-609-652

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated