ธ.ก.ส.พาลุยสวนองุ่นเกศปรียา “มาตรฐานอิสราเอล” ออกแบบโรงเรือนใหม่เพื่อท่องเที่ยว
ธ.ก.ส. นำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ไปลุยเกษตรที่อีสาน ณ สวนองุ่นเกศปรียา

ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2565 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) นำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ไปลุยเกษตรที่อีสาน ณ สวนองุ่นเกศปรียา ต.เป้า อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งเป้าหมายที่ได้มาเยือน…

อันว่าสวนองุ่นเกศปรียา “องุ่นอีสาน มาตรฐานสากล” เจ้าของเป็นเกษตรกรหนุ่ม “อธิปัตย์ บุษบาล” ใช้ภูมิปัญญาจากที่เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ในฟาร์มองุ่น เป็นเวลา 5 ปี จึงมีความรู้และประสบการณ์นำมาปรับใช้ในภูมิลำเนา ประจวบกับมองเห็นโอกาสว่าผลผลิตองุ่นบ้านเรายังนำเข้ามาจากต่างประเทศปีละจำนวนมาก จึงตัดสินใจทดลองปลูก พร้อมภรรยาสาว “เกศญภาวรรณ หลุยส์” โดยใช้ประสบการณ์บวกกับองค์ความรู้ใหม่ๆที่ได้มาจากครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากผืนนาของพ่อแม่ก็กลายเป็นสวนองุ่นขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธ.ก.ส.สาขาคำเจริญ

วันดังกล่าว เกษตรก้าวไกลได้LIVEสดให้ชมกันแบบเต็มๆ ท่ามกลางสายฝน พาไปดูตรงโน้นทีตรงนี้ที…ขอบอกว่าเป็นสวนองุ่นที่มาเติมเต็มให้ภาคอีสานดูตระการพืชผลสมกับชื่ออำเภอที่ตั้งสวนเลย

เอาล่ะใครที่ยังไม่ได้ดูLIVEสดในวันนั้น วันนี้เราได้นำมาให้ชมกันอีกครั้ง ตามลิงก์นี้ https://youtu.be/3vbddNU6044

อนึ่ง สวนองุ่นเกศปรียา ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างชื่อจากการปลูกองุ่นในโรงเรือน เพื่อให้สามารถควบคุมความชื้นในภูมิอากาศอันจะนำมาซึ่งโรคแมลงต่างๆ เน้นการผลิตแบบปลอดภัยต่อผู้ปลูกและผู้บริโภค สำหรับผลผลิตของสวนนั้น จะมีขายทั้งองุ่นผลสด ต้นพันธุ์ และกิ่งพันธุ์

องุ่นสด มีทั้งหมด 12 สายพันธุ์ ขายราคา กิโลกรัม 250  บาท

ต้นพันธุ์ มีทั้งหมด 12 สายพันธุ์ ขายราคา 300 บาท

กิ่งพันธุ์ มีทั้งหมด 12 สายพันธุ์ ขายราคา 50 บาท

ในการปลูกองุ่นในโรงเรือนนั้นจะแบ่งโซนการปลูกให้สามารถเก็บผลผลิตขายได้ทั้งปี โดยแบ่งเก็บผลผลิตองุ่นสด โดยจัดแบ่ง 3 แถวต่อรอบ พักต้น 2 เดือน แต่งกิ่ง รอบติดผล 4 เดือน เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด และง่ายต่อการดูแล

วิธีการขายนั้น จะขายองุ่นสด ผ่านเฟสบุ๊ค โดยลูกค้าประจำจะเป็นส่วนงานราชการ (อำเภอตระการพืชผล) ส่วนการขายต้นพันธุ์และกิ่งพันธุ์ ก็ขายผ่านทางเฟสบุ๊ค และเครือข่าย

“รายได้หลักนอกจากจะขายผลสดแล้ว จะมาจากการขายต้นพันธุ์ กิ่งพันธุ์ เพราะลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในผลผลิต มาเห็นวิธีการปลูกก็เกิดความสนใจ ถ้าไม่ขายก็จะเสียโอกาส และจะใช้วิธีแบ่งปันความรู้ให้กับทุกคน โดยสามารถรับชมผ่าช่องยูทูปสวนองุ่นเกศปรียา”

(ภาพคุณพรพรหม เหล่ากิจไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ ธ.ก.ส. และ คุณประยงค์ เครือแก้ว ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาคำเจริญ มอบของที่ระลึกแก่สวนองุ่นเกศปรียา ในโอกาสพาสื่อมวลชนมาเยี่ยมชม)

ปัจจุบันสวนองุ่นเกศปรียาได้ขยายโรงเรือนไปอีก จำนวน 2 โรงเรือน หลังจากที่เกิดความมั่นใจในเรื่องการผลิตและการตอบรับจากลูกค้า

“เริ่มต้นก่อสร้างโรงเรือนเอง ใช้ทุนตนเอง งบประมาณ 400,000 บาท ในพื้นที่ของพ่อแม่ เริ่มศึกษาสายพันธุ์องุ่น เพื่อคัดสายพันธุ์ที่เหมาะกับ สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศของบ้านเรา พร้อมกับทำการคัดสายพันธุ์ที่เหมาะสมได้ 12 สายพันธุ์”

“วันนี้มั่นใจว่าการปลูกองุ่นยังมีโอกาสที่จะทำรายได้ จึงได้ลงทุนเพิ่มเติม โดยขอใช้บริการสินเชื่อ Green Bond จาก ธ.ก.ส.สาขาคำเจริญ เพื่อเป็นทุนก่อสร้างโรงเรือน จำนวน 2 หลัง โรงเรือนที่ 1 ขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 30 เมตร สูง 3.5  เมตร และโรงเรือนที่ 2 ขนาด กว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร สูง 3.5 เมตร”

นอกจากนี้ คุณอธิปัตย์ บุษบาล ยังกล่าวอีกว่า โรงเรือนทั้ง 2 โรงเรือน ได้ปรับแก้ให้มีความสอดคล้องกับการปลูกองุ่นในเชิงการท่องเที่ยว นั่นก็คือทำค้างปลูกองุ่นและหลังคาโรงเรือนให้สูงขึ้น จากเดิมตัดแต่งกิ่งเป็นรูปตัว v หรือตัว y แบบเตี้ยๆ ทำให้ต้องเดินลอดใต้ต้นระหว่างร่อง รวมทั้งระยะการปลูก 4X4 เมตร จากเดิม 2X2 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อให้การเดินชมสะดวกสบายขึ้น แม้ว่าการออกแบบการปลูกแบบนี้อาจจะยากต่อการเก็บเกี่ยวและการจัดการที่ต้นองุ่นต้องสูงขึ้น แต่เมื่อคำนึงถึงการเดินชมสวนองุ่นของนักท่องเที่ยวก็คาดว่าจะเกิดมูลค่าที่สูงกว่านั่นเอง.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated