ข้าวไทยแข่งไม่ได้ในตลาดโลก สภาเกษตรกรฯประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ตั้งกลุ่มวางแผนผลิตตามความต้องการ ดันชาวนาปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของอาชีพ
ข้าวไทยแข่งไม่ได้ในตลาดโลก สภาเกษตรกรฯประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ตั้งกลุ่มวางแผนผลิตตามความต้องการ ดันชาวนาปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของอาชีพ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์​ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ​ กล่าวถึงการประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนาไทย ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เรื่อง ข้าวและชาวนา จัดโดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ว่า เป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยพร้อมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 9 สมาคม 1 ศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ ชาวนา​ ผลิต​ กลางน้ำ โรงสี แปรรูป​ และปลายน้ำ ผู้ส่งออก​ ตลาด​ เพื่อจะเตรียมวางแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไปของชาวนา ทั้งนี้ ด้วยปัญหาหลักของชาวนา ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงไม่คุ้มทุน 2.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 3.คุณภาพข้าวไม่ตรงตามความต้องการของตลาด 4.ขาดการวางแผนร่วมในการผลิต ซึ่งข้อสรุปในที่ประชุมเพื่อเป็นแผนการทำงานต่อไป คือ ตั้งกลุ่มทำงานเพื่อหารือเรื่องแผนการผลิตข้าวในรอบต่อไปว่าควรจะผลิตข้าวสายพันธุ์อะไรบ้าง เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวอื่นๆในแต่ละพื้นที่ โดยนำข้อมูลจากผู้ส่งออกนำไปให้ชาวนาใช้ประกอบ ทั้งเรื่องการผลิต​, กระบวนการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหลายเครือข่าย/องค์กร มีวิธีลดที่ดีเยี่ยมและครอบคลุมทุกภูมิภาค และ​​, การตลาด รวมทั้งการมอบให้ทีมงานลงพื้นที่ไปจัดเก็บ ประมวลองค์ความรู้ทั้งหมด​ ทุกเครือข่าย ในด้านการลดต้นทุนการผลิต​ การเพิ่มผลผลิต การฟื้นฟูดินหลังจากที่ทำนามาตลอดหลายสิบปี การใช้ปุ๋ยเคมี​ สารเคมี​ทำให้ดินเสื่อมสภาพตามลำดับ โดยชาวนาหลายเครือข่ายมีวิธีการฟื้นฟูดินจนสามารถทำให้ดินกลับฟื้นสมบูรณ์เหมือนเดิม​ ซึ่งทั้งหมดจะจัดเก็บเป็นเอกสาร​ แล้วนำสู่เวทีประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาข้าวทั้งระบบอย่างยั่งยืน แล้วจักได้นำไปใช้ประโยชน์  ได้แก่ 

– สภาเกษตรกรทุกจังหวัดที่มีการทำนาได้นำไปใช้ในพื้นที่  

– สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล ผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนพฤษภาคมก่อนฤดูกาลเพาะปลูกรอบต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเห็นควรเรื่องการปรับการผลิตของชาวนาให้เข้าสู่ระบบ GAP ทั้งประเทศ ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี โดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำงานร่วมกัน และหากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำให้ชาวนาปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิต GAP สภาเกษตรกรแห่งชาติก็พร้อมทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อได้รับทราบแล้วนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนภายใต้ระบบ​ GAP​ จักได้นำเสนอไปยังประเทศลูกค้าทั่วโลกว่าประเทศไทยได้ผลิตข้าวด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค 

“ด้านการตลาดนั้น ปัญหาใหญ่มากของการค้าข้าวไทย คือ แข่งขันไม่ได้ ทั้งด้านราคา​ คุณภาพและชนิดของข้าว ตลาดข้าวโลกมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มจำนวนมาก​ แต่ประเทศไทยผลิตข้าวพื้นแข็งจำนวนมาก สินค้าที่เราจะไปขายไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญก็คือราคาเราแข่งไม่ได้เพราะว่าประเทศที่เคยเป็นคู่ค้า เคยซื้อข้าวไทยบัดนี้เป็นคู่แข่งขายข้าวกับเรา ทำให้สูญเสียตลาดไปพอสมควรและจะสูญเสียไปเรื่อยๆเพราะไม่ได้วางแผนการผลิต ไม่เข้าใจเรื่องความต้องการของตลาด และเรื่องต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะประสานเรียนเชิญ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน เครือข่ายชาวนา พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแนวทางการวางแผนด้านการผลิต และจากนี้ไปสภาเกษตรกรฯก็จะพยายามทำงาน​ด้านข้าวและชาวนานำเสนอถึงรัฐบาลให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วมาทำงานร่วมกันเพื่อนำสู่การพยายามผลักดันให้ชาวนาปรับตัวโดยเร็วเพื่อความอยู่รอดของอาชีพการทำนาสืบไป” นายป​ระพัฒน์​ กล่าวปิดท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated