สร้างโรงเรือนเลี้ยงโคแบบประหยัดแค่ 3 หมื่น แต่เลี้ยงโคตัวละเป็นแสน หนองอาคูณทำได้

ในระหว่างที่เดินทางไปตรวจเยี่ยม “กลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนคนปลูกข้าวหอมมะลิ (โคเนื้อ หมู่ 5) ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ” หรือชื่อสั้นๆว่า “กลุ่มเลี้ยงโคเนื้อหนองอาคูณ” ตามที่เกษตรก้าวไกลได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (แปลงใหญ่ศรีสะเกษคึกคัก เกษตรกรรายได้เพิ่ม.. https://bit.ly/3oG2ma2) วันนี้ขอนำเสนอเรื่องโรงเรือนเลี้ยงโคแบบประหยัดที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุที่มีในท้องถิ่น..

(เรื่องการสร้างโรงเรือนแบบประหยัดต้นทุน และรายละเอียดข่าวชมเพิ่มเติมได้จากคลิปนี้)

โดยในเรื่องนี้นั้น นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เป็นผู้นำทีมเยี่ยมชมภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ว่า “ผมสังเกตดูตรงนี้ก็ดีมากๆเลยก็คือโรงเรือนแบบประหยัด สามารถใช้ได้เป็น 10 ปี ไม่เหมือนที่พวกเราไปดูกันมาเยอะๆแล้วมาสร้างไม่มีวัวเลย แต่พอมาดูตรงนี้ แตกต่างจากหลายๆที่ก็คือว่า สร้างคอกแบบประหยัดแต่อยู่ได้นาน และใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้เหมือนกันก็คือกันแดดกันฝนอะไรได้หมด”

ด้าน นายนภาสิทธ์ สระทอง ประธานกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อหนองอาคูณ กล่าวว่า “ผมสร้างแบบประหยัดต้นทุน สมาชิกช่วยกันทำ โรงเรียนตรงนี้สร้างเป็นปีที่ 3 เมื่อก่อนตรงนี้เป็นป่า เจ้าของเขาเห็นความสำคัญว่าน้ำไม่ท่วม ก็เลยมาสร้าง โดยสมาชิกช่วยกันสร้าง 3 วันก็เสร็จ คือเสาไม้ที่มีเราหาได้ เอาวัสดุในท้องถิ่น ในสวนของเรา ส่วนใหญ่เป็นไม้ยูคาลิปตัส บางคนบอกว่าทำไมไม่ทำเป็นเสาปูน ผมมองกันว่ามันสิ้นเปลืองเปล่าๆ เราลงทุนทำโรงเรือนแบบนี้ 2-3 หมื่นบาท ช่วยค่าแรงกันนิดหน่อย ค่าอาหารการกินบ้าง หลักๆซื้อสังกะสีมามุงหลังคา เป็นการช่วยเหลือสมาชิกซึ่งกันและกัน ตอนนี้สมาชิกอยากจะขยายแบบนี้ออกมาข้างนอกหลายเจ้าอยู่ แต่เราให้เสร็จงานนี้ก่อนเราก็จะไปช่วยกันทำ…”

นอกจากนี้ นายนภาสิทธิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรือนแห่งนี้สามารถรองรับการเลี้ยงโคเนื้อได้จำนวน 22 ตัว เลี้ยงได้ดีเหมือนคอกที่มีราคาแพง โดยยกตัวอย่างโคเนื้อพันธุ์วากิวสีดำ..

“โคตัวนี้เป็นวากิว แม่ก็เป็นชาโลเล่ น้ำหนักอยู่ที่ 650 กิโลกรัมขึ้นไป เลี้ยงมา 5 เดือนแล้ว ตัวนี้เป็นตัวที่ตอนแล้ว เพื่อทำเนื้อคุณภาพสูงส่ง ที่ Makro Lotus จะใช้เวลาเลี้ยง 8-9 เดือน อีก 4 เดือนก็จะขายได้ จะได้นำหนักอยู่ที่ 800 กิโลกรัม หรืออย่างน้อย 750 กิโลกรัม ถ้าเกรด 2 ซึ่งคิดเป็นเกรดต่ำๆเลย ตัวนี้ก็จะ 80,000 กว่าบาท ถ้าเกรดดีก็ตกตัวละ 100,000 กว่าบาท ต้นทุนจะอยู่ที่ตัวละไม่เกิน 55,000 บาท”

“ถ้าพูดถึงกำไร เกษตรกรพอใจมาก ตัวหนึ่งๆอย่างต่ำก็ 15,000 บาท นี่ถ้าสายพันธุ์แบบบ้านๆ แต่ถ้าเลือดดีๆ กำไรก็จะมากกว่า 15,000 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ว่าจะโตขนาดไหน บางตัวกำไร 20,000-30,000 บาท ที่นี่มีเลี้ยงวัว 3 สายพันธุ์ คือ ชาโลเล่ แองกัส และวากิว”

“หัวใจการเลี้ยงเราต้องดูด้วยว่าวัวตัวนี้ชอบกินแบบไหน เพราะการกินของวัวแต่ละตัวไม่เหมือนกัน เราต้องเข้าใจว่าวัวตัวไหนพฤติกรรมของเขาชอบกินแบบไหน เช่นไม่ชอบกินกากมันเยอะๆ เราสังเกตได้บางตัวกินแล้วมันเหลือ มันไม่ชอบ เราก็เปลี่ยนสูตรอาหารใหม่ ให้เขากิน ใครอยากหารือเรื่องการเลี้ยงเพิ่มเติม โทร. 093 4612161 นะครับ”

ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่มาเยี่ยมชมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อหนองอาคูณ กล่าวกับ “เกษตรก้าวไกล” ว่า “ก็ดีใจนะคะที่โครงการแปลงใหญ่ของเราประสบความสำเร็จ แล้วก็ทำให้ประชาชนทุกคนยิ้ม แล้วชื่นมื่นได้จริงๆ ตั้งแต่เมื่อวานที่เราเดินทางมาท่านรองอธิบดี(นายนวนิตย์ พลเคน) ท่านให้กำลังใจชาวบ้านได้ดีมาก ถ้าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเราลงพื้นที่อย่างนี้กับชาวบ้าน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เกษตรของเราน่าจะเป็นธุรกิจเกษตรได้จริงๆค่ะ”

นายนัทธ์เวโรจน์ บูชาพัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “ดีใจครับที่ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้มาเยี่ยมกลุ่มนี้ ซึ่งไม่เคยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯมาเยี่ยม เพราะเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มใหม่ แล้วเราก็อยากจะให้กลุ่มเล็กๆอย่างนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาของจังหวัดศรีสะเกษ อยากให้เป็นต้นแบบ เพราะกลุ่มเล็กๆสามารถที่จะเติบโตขนาดนี้ได้ จากรายได้เสริมมาเป็นรายได้หลัก ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯได้ให้โอกาสในเรื่องของการลงทุน ให้กับกลุ่มนี้ในฐานะนักส่งเสริมรู้สึกชื่นใจ ภูมิใจมากครับ”

สำหรับ คำแนะนำในการเลี้ยงโคเนื้อ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ย้ำว่า “ต้องใจรักเป็นอันดับแรก อย่าทำเป็นอาชีพเสริม ต้องลงมาเลี้ยงกันจริงๆ เพราะว่าต้นทุนการเลี้ยงต้องดูแลให้เขาโตไวๆให้ได้ลูก 1 ปี 1 ตัว อันดับต่อมา ต้องเลี้ยงให้อาหารดีๆเขา แล้วก็สินเชื่อรัฐบาลมีมาก เช่น ธ.ก.ส. ถ้าเรามีแผนธุรกิจที่ดีๆไปนำเสนอธ.ก.ส. ตอนนี้เขาก็มีโครงการให้กู้ไปเลี้ยงโคมีหลายโครงการ เราสามารถที่จะหาพันธุ์โคจากเงินกู้ได้เลย แต่อย่างน้อยก็คือให้เลี้ยงให้ได้ 5 แม่ขึ้นไป มันจะเป็นจุดคุ้มทุน เพราะเลี้ยงน้อยมันก็ไม่ได้อะไร พอขายหมดแต่ละตัวมันแพง เราก็ไม่มีเงินซื้อกลับมาใหม่ แต่ถ้าเลี้ยง 5 แม่ และวางแผนการผลิตลูก ลูกตัวนี้พอโตแล้วทำเป็นแม่พันธุ์ ลูกตัวนี้โตแล้วเข้าขุน มันก็จะเป็นระบบอย่างที่กลุ่มนี้ได้เริ่มจากรายละ 5 ตัว ก็สามารถขยายเป็น 8 ตัว 10 ตัว 15 ตัว เป็นกลุ่มที่กำลังจะเติบโต และได้งบแปลงใหญ่มาจากรัฐบาลก็สามารถที่จะต่อยอดได้เร็ว…”

ในตอนท้าย นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “ก็น่าภูมิใจนะครับ ที่สำคัญต้องขอบคุณเจ้าของนโยบาย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้การสนับสนุนพี่น้องเกษตรกร พวกเราก็มาเยี่ยม ดูแล้วมีรายได้อย่างน้อยครอบครัวหนึ่งขายได้ เดือนละ 1 ตัวก็สามารถอยู่ได้แล้ว ที่สำคัญที่สุดเขาสามารถผลิตอาหารข้นเองได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเขาลดลงมาก ฟังเสียงพี่น้อง..ฟังเสียงหัวเราะของเกษตรกรแล้วมีความสุขมากครับ”

สรุปว่า การเลี้ยงโคเนื้อกำลังก้าวไปสู่ทิศทางที่ดี เกษตรกรผู้เลี้ยงมีความถนัด และสามารถลดต้นทุนในเรื่องอาหาร โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ที่สำคัญสามารถเชื่อมโยงตลาดให้มาอยู่ในมือจากการส่งเสริมของภาครัฐนั่นเอง

หมายเหตุ..ขอบคุณภาพบางส่วนจากเฟสบุ๊ค จำนงค์ จังอินทร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated