“บ้านช่อง” เดิมเป็นเส้นทางค้าโค กระบือ จากภาคอีสานสู่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอพนมสารคาม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มราษฎรมีอาชีพหลัก ทำนา ทำสวน อาชีพเสริม ค้าขาย ต่อมาประเทศไทยมีการส่งออกมันสำปะหลังราษฎรจึงหันมาปลูกมันสำปะหลังแบบพืชเชิงเดี่ยว ไม่กี่ปีหน้าดินเกิดความเสื่อมโทรมเนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก ขณะที่ราคามันสำปะหลังเริ่มตกต่ำเนื่องจากปริมาณการผลิตมีจำนวนมากกว่าความต้องการของตลาด

หินซ้อน1

ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน บริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ไหนก็จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น พระองค์ทรงรับไว้ แต่สร้างเป็นสถานที่ศึกษาเกี่ยวกับการเกษตร แทนตำหนักตามที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่มาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรม โดยให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ณ ที่แห่งเดียวในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้

S__15007976

นายบัญชา ฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้า ตำบลบ้านช่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ในอดีตราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงหมู แต่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ขาดทุน ต่อมาก็เข้าไปฝึกอบรมอาชีพที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกี่ยวกับการปลูกพืชผักและการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนแล้วกลับมาทำที่บ้านของแต่ละคน มีสมาชิก 30 คน โดยใช้ทะลายปาล์มเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดซึ่งต้องนำเข้าจากต่างพื้นที่จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง ต่อมาได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ให้ใช้เปลือกมันสำปะหลังซึ่งมีมากในพื้นที่มาทดแทนก็ประสบความสำเร็จด้วยดีทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง จึงมีกำไรเพิ่มขึ้น

จากความสำเร็จในการผลิตและขายได้ราคาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเพาะเห็ดฟางผลิตและขายจนมาถึงปี 2552 ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 50 คน เป็น 100 คน และเป็น 500 คน ในปัจจุบัน จึงจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้น ซึ่งจะมีกฎระเบียบกติกาในการทำงานร่วมกันทำให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนก็ได้รับการยกระดับขึ้นมาเป็นแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ชื่อว่าแปลงใหญ่เห็ดโรงเรือน หมู่ 3 ตำบลบ้านช่อง มีสมาชิกที่ร่วมโครงการแปลงใหญ่ 40 แปลง มีการผลิตเห็ดและผักหลายชนิด โดยทางกลุ่มจะประกันราคาการรับซื้อจากสมาชิกโดยจะซื้อทั้งหมดและจ่ายเงินสดให้แก่สมาชิก เห็ดฟางดอกตูมใหญ่จะประกันราคาที่ 80 บาท เล็ก 60 บาท และดอกบาน 50 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรเพราะสามารถขายผลผลิตได้และมีราคาดี

S__15007966

S__15007992

ส่วนวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดฟาง นายบัญชา  ได้อธิบายว่า จะนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้บำรุงต้นพืชผักที่สมาชิกปลูก ปีหนึ่งสามารถผลิตได้ประมาณ 2,000 ตัน ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันเมื่อเป็นแปลงใหญ่ก็สามารถเข้าถึงการสนับสนุนจากส่วนงานภาครัฐได้ง่าย จึงมีการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้ามาใช้พร้อมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น ระบบการให้น้ำตามความต้องการของพืชที่ปลูกมาใช้ในแปลงปลูก ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP 100 เปอร์เซ็นต์ทุกแปลง

“ล่าสุดสมาชิกเกษตรกรได้รับการอบรมเพิ่มเติมจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ในเรื่องการผลิตก้อนเชื้อเห็ด การเลี้ยงเนื้อเยื่อ การตอนกิ่งและการขยายพันธุ์พืช เช่น เสียบตา ต่อยอดพืชประเภทมะขาม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรนำมาต่อยอดการเพาะปลูกได้มากขึ้น ขอกราบขอบพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำริให้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ขึ้นมา ช่วยราษฎรในพื้นที่ด้านการทำมาหากินเป็นอย่างมาก และรู้สึกปลื้มปีติ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการเหล่านี้ ทำให้ราษฎรได้รับการสนับสนุนในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง และภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทยและอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์” นายบัญชา กล่าว

S__15007986

S__15007960

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated