เรื่องการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่มุ่งสร้างอาชีพประชาชน เราน่าจะนำมาปรับใช้ในวันนี้ (ภาพจากเว็บไซต์)
เรื่องการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่มุ่งสร้างอาชีพประชาชน เราน่าจะนำมาปรับใช้ในวันนี้ (ภาพจากเว็บไซต์)

เรื่อง : ลุงพร เกษตรก้าวไกล

“เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำท่วมสวนเงาะ ทุเรียน กระท้อน ของชาวสวนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ประชาชนเกิดความเครียด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออกอากาศ 24 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายความเครียดไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือแม้นกระทั่งพ่อ แม่ ผู้ปกครองของนักเรียนได้รับชมรายการทางด้านการศึกษา ด้านภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และด้านวิชาชีพ สามารถนำความรู้ที่ได้รับชมมาใช้เป็นทักษะ หรือแนวทางในการประกอบวิชาชีพต่อไปได้ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออกอากาศ 24 ชั่วโมง มาเป็นเวลา 14 ปี และไม่เคยหยุดการออกอากาศ…”

(คัดมาจากบางส่วนของบทความเรื่อง การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อ่านฉบับเต็มที่ https://sites.google.com/site/princessict21/bthkhwam-phises/kar-suksa-thang-kil-phan-dawtheiym)

จากบทความข้างต้นนี้ ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำท่วมสวนเงาะ ทุเรียน กระท้อน ของชาวสวนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ประชาชนเกิดความเครียด เราน่าจะนำมาปรับใช้กับวิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคราวนี้เครียดกันทั้งประเทศและทั่วโลกก็ว่าได้

เหตุการณ์โควิด-19 เกิดมาปีกว่าๆจะครบ 2 ปี ในอีกไม่นานนี้ ผมคิดว่าเราน่าจะตั้งหลักกันได้แล้วว่าโควิดจะยังอยู่กับเราอีกนานตราบที่พลโลกยังไม่รู้สึกรู้สาไม่รู้รักสามัคคีมีระเบียบวินัยในตัวเอง ถึงคราวที่ทุกคนต้องเคารพกติกาที่โควิดได้สร้างขึ้น ไม่งั้นจะอยู่กันหวาดระแวงซึ่งกันและกันไปอีกนาน

ระหว่างนี้ที่หยุดเชื้อเพื่อชาติหยุดทำงานอยู่ที่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่และส่วนหนึ่งก็คงจะหยุดยาว เพราะไม่มีงานให้ทำเหมือนแต่ก่อน รัฐบาลจะเยียวยาด้วยเงินคงจะไม่ตลอดไป จะเอาเงินที่ไหนมาเยียวยา สิ่งที่จะเยียวยาได้ตลอดไปคือการงานอาชีพ…

ผมนั้นก็เป็นสื่อมวลชนเกษตรตัวเล็กๆในนาม “เกษตรก้าวไกล” ได้เห็นความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรไทย พบว่ายังเป็นอาชีพที่ลำบากยากจน แต่ท่ามกลางความลำบากยากจนก็ยังมีแสงสว่างให้เห็น แต่จะเห็นกันได้กี่คน..ท่ามกลางวิกฤตโควิดเราเห็นได้ชัดว่าภาคการเกษตรคือทางรอด เพราะผลิตข้าวปลาอาหารที่ทำให้มีชีวิตรอดได้ แต่จะรอดเพื่อให้เข้ากับยุคทันสมัยได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนากันต่อไป

(เกษตรคือประเทศไทย ถ้าทำให้เกษตรเจริญ ประเทศไทยของเราก็จะเจริญ https://bit.ly/2V0J2I1)

เมื่อปีที่แล้วเราได้จัดทำโครงการ “30วันปันความรู้เพื่อเกษตรกรไทย” (โควิดรอบใหม่นี้เราจัดโครงการเกษตรก้าวไกลLIVEฝ่าวิกฤตโควิดทั่วไทย) เพราะเรามองว่าการเยียวยาด้วยความรู้คือความสำคัญสูงสุดที่จะเกิดความยั่งยืนในชีวิต “เงินทองยิ่งใช้ยิ่งหมดไปแต่ความรู้ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มพูน” จะเป็นไปได้ไหมที่ระหว่างนี้ที่เรากำลังให้ทุกคนหยุดอยู่กับบ้านจะได้มีการเยียวยากันด้วยความรู้อย่างเป็นระบบ…

บ้านเรานั้นเมื่อมองดูให้ดีๆมีการงานอาชีพที่หลากหลายมาก เอาง่ายๆอย่างอาชีพปลูกทุเรียนจะพบว่ามีอาชีพที่เกี่ยวเนื่องมากมายที่เราน่าจะยกระดับหรือพัฒนาให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานและนำมาเผยแพร่ให้คนไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง อย่างเช่น คนทำพันธุ์ทุเรียนขาย คนทำปุ๋ยขาย คนตัดคนรับทุเรียน คนขนส่งทุเรียน คนขายทุเรียน คนแปรรูปทุเรียน คนรับปลูกทุเรียน คนรับดูแลสวนทุเรียน ฯลฯ นี่ยังไม่รวมเครื่องไม้เครื่องมือหรือเครื่องจักรกลเกษตรต่างๆ ชนิดที่เรียกว่ายังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆอีกมากมายที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นอาชีพของคนไทยได้

ไม่อยากให้คนไทยเราหลงใหลได้ปลื้มว่าเราเป็นเบอร์ 1 ทุเรียนโลก ครองความเป็นเจ้าทุเรียนมาหลายปีติดต่อกัน แต่อยู่ๆเมื่อวัดมูลค่าตลาดจะเกิดมูลค่าที่ต่ำเมื่อเทียบกับล้งหรือพ่อค้าคนกลางหรือคนที่นำผลผลิตของเราไปแปรรูปในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อถึงวันนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับที่เราขายข้าวเปลือกหรือข้าวสาร ส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่ชาวนาผู้ปลูกข้าวยังยากจนอยู่…เราคงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผานมาได้มีโอกาสสื่อสารกับทางสยามคูโบต้าบอกว่าอยากจะจัดกิจกรรมเสริมความรู้คือติดอาวุธความรู้ด้านดิจิทัลให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย โดยให้ไปจัดในสถานที่ไหนสักแห่งเหมือนจัดการศึกษาทางไกลพระราชทาน จากโรงเรียนวังไกลกังวล จากนั้นทำการถ่ายทอดสดออกไปทั่วประเทศ ซึ่งสมัยนี้ทำได้สะดวกและง่ายขึ้นมาก

เมื่อได้ฟังดังนี้ก็มาเปิดข้อมูลเรื่องการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจลึกๆว่าเราน่าจะมีหน่วยงานไหนที่เป็นเจ้าภาพหลักและส่งเสริมให้เกิดเจ้าภาพย่อยๆขึ้นมา คือระหว่างที่คนไทยหยุดอยู่บ้านและใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือนี้เราก็น่าจะสอดแทรกหลักสูตรการงานอาชีพต่างๆขึ้นมา ด้วยการออกแบบแฟลตฟอร์มเสริมอาชีพสร้างรายได้เร่งด่วน เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าเราคนไทยจำนวนมากที่มีความรู้พร้อมแบ่งปันให้เพื่อนร่วมชาติ เพียงแต่เรายังขาดเจ้าภาพหลัก…

ผมก็บ่นไปยาวพอสมควรตาประสาคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้น ตนเองนั้นก็ใช่ว่าจะสบาย เปรียบไปก็เหมือนลอยคอกลางมหาสมุทร พยายามว่ายน้ำ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนยามนี้ตกสภาพเดียวกันไม่ว่าคนรวยคนจน ถ้าโควิดยังอยู่ มีทางเดียวที่เราจะรอดได้คือความร่วมมือร่วมใจสมัครสมานสามัคคีตามที่กล่าวข้างต้นแล้วครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated