สสก.1 จังหวัดชัยนาท โชว์ผลงานยกระดับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ชู อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด ต้นแบบพัฒนายุคเกษตรวิถีใหม่แก้จนปลดหนี้ให้ครอบครัวด้วยเกษตรผสมผสานแถมพัฒนาจนมีรายได้เพิ่มจากท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับ 5 กิจกรรมสุดชิว

นายวีระชัย เข็มวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 (สสก.1) จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ในปี 2564 โดยมุ่งเน้นการ “ยกระดับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน เพื่อรองรับรูปแบบเกษตรวิถีใหม่ (New Normal) เช่น ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต การบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคใช้ตลาดนำการเกษตรเป็นหลักรวมถึงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรเกิดรายได้ที่ยั่งยืนทั้งต่อเกษตรกร และชุมชน

นายวีระชัย เข็มวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 (สสก.1) จังหวัดชัยนาท
นายวีระชัย เข็มวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 (สสก.1) จังหวัดชัยนาท

“ ดังนั้น สสก.1 จังหวัดชัยนาท จึงได้ดำเนินการสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 9 จังหวัด ให้เกิดการยกระดับเกษตรกรและนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.รวมถึงศพก.เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดแก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เช่น อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด จังหวัดปทุมธานี ที่มีนายอดุลย์ ประธาน เป็นเจ้าของ”       

นายอัครภูมิ สมแสง เกษตรปทุมธานี กล่าวว่า “อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด เป็นศพก.เครือข่ายที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นต้นแบบความสำเร็จด้านเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่อีกทั้งยังได้พัฒนาจนยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพระดับดีเยี่ยมของจังหวัดปทุมธานี  ”

p3

ด้าน นายอดุลย์ ประธาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมนั้นครอบครัวทำเกษตรในลักษณะปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ทำนาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาจากภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ผลผลิตได้รับความเสียหาย มีรายได้ไม่เพียงพอ มีปัญหาหนี้สินตามมาอีกมากมาย เงินเดือนที่ตนได้รับจากการเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ไม่เพียงพอกับการจุนเจือครอบครัว จึงเกิดแนวคิดในการสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว เริ่มต้นด้วยเพาะเห็ดนางฟ้าจำหน่ายเป็นอันดับแรก

“ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอคลองหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบของ สสก. 1 จังหวัดชัยนาท จึงทำให้การเพาะเห็ดสามารถประสบความสำเร็จ สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด หลังจากนั้นจึงได้ปรับรูปแบบกิจกรรมสู่การทำเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามลำดับ รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จนทำให้มีรายได้เพียงพอและปลดหนี้ได้ พร้อมกันนี้ได้ขยายผลสู่เกษตรกรใกล้เคียง จนรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปรรูป หมู่ 14 ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อได้แก่ ข้าวเกรียบเห็ดสมุนไพร เห็ดสวรรค์ ขนมเค้กกล้วยหอมเห็ด ”

p1

นายอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ดได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ และมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึง 5 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมผลิตก้อนเชื้อเห็ด และการเพาะเห็ดตัดดอก กิจกรรมการเกษตรผสมผสาน มีทั้งการทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจ เลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ กิจกรรมการแปรรูป เรียนรู้ทำข้าวเกรียบเห็ดทอด ขนมเค้กกล้วยหอมเห็ด เป็นต้น กิจกรรมพายเรือเก็บบัว และกิจกรรมทำงานฝีมือ

“โดยโปรแกรมท่องเที่ยว มีให้เลือก 3 แบบ คือ แบบ 1 วัน ค่าใช้จ่ายท่านละ 500 บาท แบบพัก 2 วัน 1 คืน ค่าใช้จ่ายท่านละ 900 บาท และแบบพัก 3 วัน 2 คืน ค่าใช้จ่ายท่านละ 1,200 บาท ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด เลขที่ 107 หมู่ 14 ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทรศัพท์ 08-6380 -6737 หรือดูรายละเอียดได้ทาง Facebook: อดุลย์ โคกหนองนา จ.ปทุมธานี” นายอดุลย์ กล่าวในที่สุด

p2

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated