ลุงน้อย-สุริยะ ชูวงศ์ ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จดบันทึกบัญชีนำทางสู่ความสำเร็จ
ลุงน้อย-สุริยะ ชูวงศ์ ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จดบันทึกบัญชีนำทางสู่ความสำเร็จ

นายสุริยะ ชูวงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มประจำปี 2559 หรือชื่อที่ทุกคนเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “ลุงน้อย” เป็นผู้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาตลอดระยะเวลา 37 ปี ควบคู่ไปกับการจดบัญชีครัวเรือน บัญชีฟาร์ม และบันทึกข้อมูลการทำการเกษตร เพื่อวิเคราะห์วางแผนการผลิต ภายใต้การส่งเสริมแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาด และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดหนี้สิน

นายสุริยะ ชูวงศ์ หรือ ลุงน้อย
นายสุริยะ ชูวงศ์ หรือ ลุงน้อย

ลุงน้อย เปิดเผยว่า ตนเองสืบสานพระราชปณิธานด้านเกษตรและยึดมั่นปฏิบัติมาตลอดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 หลังจากได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.9 ณ สวนจิตรลดา ซึ่งทรงอธิบายและสอนการทำเกษตรผสมผสานแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสอนให้เป็นคนรอบรู้ รอบคอบ ช่างสังเกต เมื่อได้รับพระราชดำรัสก็น้อมนำทฤษฎีไร่นาสวนผสมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางพัฒนาสวนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปแบบของการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งทำนา ปลูกผลไม้ปลอดสารพิษ เช่น ชมพู่ ละมุด มะนาว มะละกอ มะยงชิด กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ตาลโตนด เป็นต้นลุงน้อย-สุริยะ ชูวงศ์ ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการจดบันทึกทางบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ และมีการวางแผนการผลิต การตลาด และหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต รวมถึงวางแผนการใช้จ่ายในครอบครัวอย่างเป็นระบบ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกมาคิดวิเคราะห์ ภายใต้การแนะนำจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปวางแผนในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับกลไกการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพราะในอดีตเคยประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากการวางแผนการผลิตกล้วยหอมทองที่ผิดพลาด จนผลผลิตออกมามากในช่วงสินค้าล้นตลาด ทำให้ขายได้ราคาตกต่ำ แต่เมื่อนำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาวิเคราะห์ จึงทำให้รู้ว่า ในช่วงเทศกาล กล้วยหอมทองจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในท้องตลาดมีผลผลิตจำหน่ายน้อยมาก สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ จึงปรับเปลี่ยนวางแผนการเพาะปลูกกล้วยหอมทองเพื่อให้ได้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และจำหน่ายได้ราคาดีลุงน้อย-สุริยะ ชูวงศ์ ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“จากประสบการณ์ที่เรียนรู้และปฏิบัติมาตลอดชีวิต ปัจจุบันจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้สนใจ ที่เข้ามาเยี่ยมชมสวน และยังรับเชิญเป็นวิทยากรทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชไร่ พืชสวนแบบผสมผสาน รวมถึงเทคนิคและวิธีการทำการเกษตรต่างๆ ที่ตนทำมาแล้วประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้ที่มารับความรู้นำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และในฐานะที่เป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเน้นย้ำกับผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ทุกครั้งว่า จะต้องทำบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ แล้วนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้มาวิเคราะห์วางแผนการผลิต จึงจะทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ เพราะองค์ความรู้ทางบัญชีจะเป็นอาวุธทางปัญญาที่ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตร” ลุงน้อย กล่าวลุงน้อย-สุริยะ ชูวงศ์ ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ด้าน นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกร ให้ทำบัญชีได้ใช้บัญชีเป็นในภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร มาแล้วตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการประกอบการเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคง โดยเกษตรกรผู้มีองค์ความรู้ทางบัญชีนอกจากจะรู้รายรับ รายจ่าย รู้ตัวตนแล้ว ข้อมูล ที่ได้บันทึกจากการประกอบการทำเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการตลาด รวมถึงต่อยอดพัฒนาพืชผลทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ สำหรับลุงน้อย ถือว่าเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่กรมฯ เข้ามาแนะนำ และจากการจดบันทึกทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ลุงน้อยรู้แต่ละรายการว่าจะมีรายได้ในช่วงไหนเท่าไหร่ ผลผลิตจะออกเดือนไหน ได้เรียนรู้และนำไปพัฒนาทางความคิดในวิชาชีพเกษตรกรของเขา โดยใช้หลักบัญชี การจดการรับจ่ายในครัวเรือน ตลอดจนบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพได้ ซึ่ง นับว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบคนหนึ่งที่กรมฯ ภูมิใจ เพราะนอกจากนำระบบการบันทึกทางบัญชีมาใช้ด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จแล้ว ยังทำหน้าที่ครูบัญชีอาสา นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้เกษตรกรคนอื่นๆ

รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บอกอีกว่า ก่อนที่ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเข้ามาแนะนำ ลุงน้อยก็มีหลักคิด มีวิธีการที่ดีในการทำการเกษตรและมีวินัยทางการเงินที่ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับองค์ความรู้ด้านบัญชีเพิ่มเติม ก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการจดบันทึกทางบัญชีที่เป็นระบบมากขึ้น เมื่อจดบันทึกแล้วความคิดก็เป็นระบบมากขึ้น เกิดการวางแผนที่ดี ออกแบบการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเห็นว่าลุงน้อยเป็นผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมที่ไม่มีหนี้สิน เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรและเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ มาให้ความสำคัญกับการทำบัญชี

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สนับสนุนและพัฒนาให้อาสาสมัครเกษตรกรด้านบัญชี หรือครูบัญชีอาสา เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลุงน้อยนับเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ยอมรับและทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรและการตลาดที่มีผลกระทบต่อการเกษตรที่ทำอยู่ ส่งผลให้มีความพร้อมในการปรับตัวฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและการดำเนินชีวิตในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำระบบบัญชีมาเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองจากเกษตรกรทั่วไป ขึ้นเป็นนักเกษตรยุคใหม่ที่คิดเป็นระบบสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเกษตรของตนเองด้วยระบบบัญชี” รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated