หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรราชบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง
หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรราชบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และคาดว่ายังมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไป เกษตรกรจึงมีการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร โดยปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และยังช่วยตัดวงจรชีวิตของโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งพืชทางเลือกที่น่าสนใจ เหมาะสมต่อการปลูกในช่วงฤดูแล้ง คือ ถั่วลิสง เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลตอบแทนสูง และตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง

หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรราชบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง
นายพลเชษฐ์ ตราโช

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี เพื่อสำรวจต้นทุนการผลิตถั่วลิสง พบว่า พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอบ้านลาด และเขาย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ในเขตชลประทาน มีแหล่งรับซื้ออยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเกษตรกรมีความชำนาญในการปลูก โดยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 600 – 700 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 486 กก./ไร่ ผลผลิตรวม 290,000–340,000 กก./ปี ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 80 – 110 วัน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,370 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 3,410 – 4,388 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 20 – 22 บาท/กก. ในขณะที่ การปลูกข้าวนาปรัง ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 305.47 บาท/ไร่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกถั่วลิสงให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการปลูกข้าวนาปรัง

หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรราชบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง
ปลูกถั่วลิสง

สำหรับการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่เกษตรจำหน่ายให้กับโรงต้มถั่วที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จำนวน 6 โรง ซึ่งมีความต้องการ ถั่วลิสงตลอดทั้งปี แต่ผลผลิตในพื้นที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้โรงต้มถั่วดังกล่าว รับซื้อถั่วลิสงจากภาคเหนือ และมีการนำเข้าจากประเทศพม่า จึงนับเป็นโอกาสดีที่เกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกถั่วลิสงทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง

หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรราชบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง
นางจินตนา ปัญจะ

ด้าน นางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกถั่วลิสง มีขั้นตอนการดูแลที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การพรวนดินเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของผลผลิต การใช้ปุ๋ยเร่งดอกและเมล็ด รวมทั้งการใช้น้ำ ซึ่งเกษตรกรควรมีการบริหารจัดการด้านแรงงาน โดยการรวมกลุ่มการผลิต หรือการ “เอาแรง” ในพื้นที่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและปัญหาด้านแรงงานได้ ดังนั้น เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกและการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมเพียงพอต่อการผลิต และควรมีการบำรุง ดูแลรักษาที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้ง ควรเฝ้าระวังโรคแมลงกินใบและฝักถั่วลิสงที่จะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตได้ ทั้งนี้ หากเกษตรกรสนใจข้อมูลการผลิตถั่วลิสงของจังหวัดราชบุรี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมล zone10@oae.go.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated