จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชนให้มีความรู้พื้นฐานเพื่อหยุดเผา และนำเทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ทดแทนการเผา เช่น ใช้เครื่องสับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัสดุปกคลุมหน้าดิน ทำปุ๋ยหมักน้ำหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน การไถกลบตอซัง จัดเก็บเศษวัสดุฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง โดยใช้กลไกของศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นต้นแบบและเครื่องข่ายเพื่อขยายผลสู่การปฏิบัติใช้อย่างกว้างขวางต่อไป

7

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกล่าสุดนางอุบล มากอง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ พร้อมด้วยนางสาวนคร คมกล้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ นางสาวทิพย์อุษา พิมนาค นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ นางสาวภรทิพย์ ทองตัน นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ และนางสาวผกาพันธุ์ ละมัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินกิจกรรมในโครงการส่งเสริมโครงการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2563 ณ แปลงเกษตร นางเพ็ญรุ่ง กริ่มใจ หมู่ที่ 7 ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้ตลอดถึงพัฒนาศักยภาพและสร้างเกษตรกร-ชุมชนต้นแบบขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเผาให้เป็นรูปธรรม โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หน่วยงานภาคี ทั้งรัฐและเอกชน ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และสาธิตการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นจุดเรียนรู้ขยายผลไปพื้นที่อื่น พร้อมทั้งขยายเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผาออกไปอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับพื้นที่ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาโดยปลูกข้าวพันธุ์เหลืองทองซึ่งเป็นข้าวน้ำลึก พร้อมทั้งทำสวนและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้แรงงานจากสัตว์ในการทำการเกษตร มีการรวมกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะพบปัญหาจากการเผาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมสูญเสียธาตุอาหารในดินรวมทั้งระบบนิเวศในพื้นที่เปลี่ยนไป
ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร ก่อนทำการผลิตในแต่ละรอบการผลิตต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยสารคมีทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

3

จากปัญหาดังกล่าวสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดถ่ายทอดความรู้เพื่อลดการเผาวัสดุทางการเกษตรขึ้นในหลายประเด็น เพื่อให้เกษตรกรนำไปประประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของตนเองตามความเหมาะสมต่อไป เช่น การทำฟางหมักเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปลา โดยประมงจังหวัดนครนายก การใช้นวัตกรรมทางเลือกด้านการเกษตร (การอัดฟางทำฟางก้อน และการไถกลบตอซัง) โดย บริษัทคูโบต้า นครนายก ตามด้วยการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว โดย วิทยากรเกษตรกรผู้นำ เรื่องการทำเห็ดตะกร้า และการทำกระถางต้นไม้จากเศษวัสดุทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ

6

“การถ่ายทอดและกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้จะมุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มากขึ้น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนเพื่อประโยชน์ในการทำการผลิตร่วมกัน และสังคมโดยภาครวมจะได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง จนหมดไปในที่สุด”  นางอุบล กล่าวทิ้งท้าย

5เกษตรภาคตะวันออก ถ่ายทอดประโยชน์..ลดเผาวัสดุการเกษตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated