อะโวกาโด ไม้ผลทำเงินของผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม ที่พบพระ...แนะวิธีเสียบยอดพันธุ์ดี
อะโวกาโด ไม้ผลทำเงินของผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม ที่พบพระ...แนะวิธีเสียบยอดพันธุ์ดี

เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

“ที่นี่เป็นสวนของเกษตรกรต้นแบบในการปลูกอะโวกาโดของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก ซึ่งเน้นรูปแบบการทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นสวนที่จะให้คำตอบได้อย่างดีกับเกษตรกรที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคำถามเสมอว่า ในระหว่างที่ต้นอะโวกาโดกำลังโตยังไม่ให้ผลผลิต แล้วจะมีรายได้จากอะไร”

นายธนากร โปทิกำชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง) นำทีทงานเกษตรก้าวไกล มาเยี่ยมชมสวนอะโวคาโดผู้ใหญ่ไพเราะ ปานพิม
นายธนากร โปทิกำชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง) นำทีมงานเกษตรก้าวไกล มาเยี่ยมชมสวนอะโวคาโดผู้ใหญ่ไพเราะ ปานพิม

นายธนากร โปทิกำชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง) ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะโวกาโด จนได้รับฉายาว่า Avocado Man บอกกล่าวระหว่างการนำเยี่ยมสวนของเกษตรกรต้นแบบ นายไพเราะ ปานทิม หมู่ที่ 3 บ้านรวมไทยพัฒนา 7 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ

ผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม กับต้นอะโวคาโดพระราชทาน
ผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม กับต้นอะโวคาโดพระราชทาน

นายไพเราะ หรือที่คนคุ้นเคยต่างเรียกขานว่า ผู้ใหญ่ไพเราะ ด้วยเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 และเป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโดรุ่นแรกในพื้นที่ โดยได้กล่าวว่า เดิมเป็นทหารผ่านศึกษาและได้เข้าร่วมในโครงการพพพ. หรือโครงการจัดสรรพื้นที่ทำกินพบพระ ซึ่งมอบให้กับอดีตทหารผ่านศึก และอดีตทหารกองหนุน รวมถึงกนช. โดยใด้รับที่ดินทำกิน ครัวเรือนละ 20 ไร่ และที่อยู่อาศัย 2 งาน พร้อมบ้าน 1 หลัง และที่ปลาบปลื้มที่สุดคือ ได้รับพระราชทานต้นอะโวกาโด และต้นมะคาเดเมียนัทจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาให้ชาวบ้านในพื้นที่ปลูก”

“ได้รับแล้วผมก็นำมาปลูกกัน ช่วงนั้นไม่เราก็ไม่รู้จักกันเลยว่า อะโวกาโดคืออะไร แต่ก็ปลูกไว้เฉยๆในพื้นที่ พอติดลูกมาก็เก็บมากิน แต่ความรู้สึกคือ กินแล้วมันๆจืดๆ ไม่อร่อย ผลบางส่วนเลยเก็บไปให้หมูกิน ซึ่งหมูก็อ้วนดี จนมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อะโวกาโดเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด เราก็เก็บขายกัน ด้วยได้ราคาดี เกิดเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง” ผู้ใหญ่ไพเราะ กล่าว

“อย่างอะโวกาโดต้นนี้เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีอายุ 20 ปีแล้ว เป็นต้นที่มีลักษณะดี ลูกสวย ผลมีรสชาติอร่อย พอติดผลพ่อค้าจะมาจองและสอยเองเลย โดยให้ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ถึง 20,000 บาทต่อปี จากผลผลิตที่ติดประมาณ 500 กิโลกรัมทุกปี”

จากที่พบว่าอะโวกาโดเริ่มเป็นไม้ผลที่ตลาดต้องการ จึงมีการเริ่มปลูกกันมากขึ้น เรียกว่าเป็นไม้เด่นตัวใหม่ของพบพระ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง) ในการนำยอดพันธุ์ดีมาให้เพื่อใช้เป็นเสียบบนต้นอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันในพื้นที่ และการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ระหว่างรอให้อะโวคาโดได้ผลผลิตก็ปลูกมะละกอและพืชชนิดอื่นๆแซมสร้างรายได้ไปพลางๆ
ระหว่างรอให้อะโวคาโดได้ผลผลิตก็ปลูกมะละกอและพืชชนิดอื่นๆแซมสร้างรายได้ไปพลางๆ
เกษตรผสมผสาน สร้างรายได้ก่อนอะโวกาโดให้ผล

วันนี้ในพื้นที่ 20 ไร่ของผู้ใหญ่ไพเราะได้มีการวางแผนระบบการจัดการปลูกพืชในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน ที่มีอะโวกาโดเป็นพืชหลัก และเสริมด้วยพืชที่หลากหลายที่มีอายุสั้นให้ผลผลิตเร็ว แซมไว้ในร่องปลูก ไม่ว่า ต้นบุกเนื้อทราย หรือบุกไข่ มะละกอแขกนวล พริก กล้วยหอมทอง เป็นต้น

“ในช่วงอะโวกาโดยังไม่ให้ผลผลิต เราก็มีรายได้จากพืชอื่นๆในสวน ทำให้อยู่ได้สบาย เพราะเราทุกอย่างที่ตลาดต้องการ และมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่สวน”

สำหรับการปลูกอะโวกาโดนั้น ผู้ใหญ่ไพเราะบอกว่า เป็นไม้ผลที่ปลูกง่ายที่สุดแล้ว การดูแลไม่มาก และที่สำคัญเป็นไม้ผลที่ตลาดมีความต้องการสูงมาก

ในพื้นที่  1ไร่นั้น ผู้ใหญ่ไพเราะบอกว่าจะปลูกอะโวกาโดได้ประมาณ 25 ต้น

“ดังนั้นในการปลูก ผมอยากบอกว่าไม่ต้องไปซื้อต้นพันธุ์ที่เขาขายกันต้นละ 500 หรือ 1,000 บาท เป็นการสิ้นเปลื้อง ให้ใช้วิธีการนำเมล็ดต้นพันธุ์พื้นเมืองมาเพาะแล้วนำลงปลูกไว้เป็นต้นตอ เลี้ยงไว้สักปี จากนั้นค่อยใช้วิธีการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีเข้าไปวิธีการนี้ จะทำให้ต้นทุนต่ำมากและสะดวกที่สุด” (วิธีการเสียบยอดอะโวคาโด ที่นิยมมี 2 วิธี คือฝานบวบ และแบบเสียบเปลือก ขอให้ดูจากคลิปประกอบ)

การเสียบยอดอะโวดา ของผู้ใหญ่ไพเราะ เพื่อเปลี่ยนจากยอดพื้นเมืองมาเป็นพันธุ์ดี
การเสียบยอดอะโวดา ของผู้ใหญ่ไพเราะ เพื่อเปลี่ยนจากยอดพื้นเมืองมาเป็นพันธุ์ดี

“ผมเพิ่งมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นสวนอะโวกาโดได้ประมาณ 4 ปี โดยนำต้นพันธุ์พื้นเมืองมาลงปลูกก่อนเพื่อใช้เป็นต้นตอสำหรับการเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดี โดยจะตัดให้เหลือแต่ตอสูงขึ้นมาจากพื้นที่ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วจะนำยอดพันธุ์ดีอย่าง สายพันธุ์บัคคาเนียร์มาเสียบได้ทั้งแบบเสียบข้าง และเสียบยอด ซึ่งหลังจากเปลี่ยนยอดแล้วเลี้ยงอีกไม่นานก็จะติดดอกออกผล” ผู้ใหญ่ไพเราะ กล่าว

อีกเทคนิคที่ผู้ใหญ่ไพเราะแนะนำ คือ การปลูกกล้วยไว้เป็นพืชให้ร่มเงาในช่วงแรกที่ลงอะโวกาโด

“คนโบราณเขาแนะนำไว้ดีมากเลย จะปลูกอะไรก็ตามให้ปลูกกล้วยไว้ก่อน เพราะกล้วยจะช่วยให้ร่มเงา ให้ความชื้นแก่ต้นอะโวกาโดที่ปลูก ส่วนการบำรุงต้นนั้นจะใช้เพียงปุ๋ยคอกใส่รอบทรงพุ่มประมาณครึ่งกระสอบ โดยใส่ช่วงที่แตกยอดอ่อนเท่านั้น”

ส่วนเรื่องโรคแมลง ผู้ใหญ่ไพเราะบอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงที่ต้นอะโวกาโดต้นเล็กและมีการแตกใบอ่อนในช่วงต้นฤดูฝนจะพบเพียงแมลงอีนูนอย่างเดียวที่มาเกาะและกินใบ พอหมดช่วงก็หายไปหมด ต้นก็เจริญเติบโตงอกงามเป็นปกติ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นอะโวกาโดปลูก แถมยังสามารถเก็บแมงอีนูนไปขายที่ตลาดเป็นรายได้เสริมได้อีก

นายธนากร โปทิกำชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง) ยืนยันว่าอะโวคาโดมีอนาคตที่น่าสนใจ
นายธนากร โปทิกำชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง) ยืนยันว่าอะโวคาโดมีอนาคตที่น่าสนใจ
อะโวกาโดมีอนาคตไหม?

นายธนากร โปทิกำชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก(เกษตรที่สูง)   บอกว่า อะโวคาโด (Avocado) เป็นผลไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตรขึ้นไปซึ่งให้ผลผลิตเร็ว ให้ผลผลิตดกมีความหลากหลายของพันธุ์ทำให้มีผลผลิตกระจายครอบคลุมตลอดทั้งปี

อะโวคาโด ถือเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้ค่าพลังงานสูงแต่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันรักษาโรคหัวใจที่เกิดจากไขมันในลิ่มเลือดอุดตัน ช่วยลดความอ้วนเพราะปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลน้อย ประกอบด้วยสาระสำคัญหลายชนิด เช่น สาร Antioxidant, กรดอะมิโน 18 ชนิด มีเส้นใยอาหารสูงเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย มีวิตามินอีช่วยบำรุงผิว วิตามินเอ (เบต้าแคโรทีน)

ด้วยอะโวกาโดเป็นที่นิยมของคนทั่วไปและใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อคนรักสุขภาพ ทำเครื่องสำอางต่าง ๆ ด้วย จึงมีปริมาณความต้องการสูงทั้งภายในและต่างประเทศ และคาดว่ายังมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี

แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการได้จำเป็นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งในรูปผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป มีราคาสูง ให้ผลตอบแทนต่อเกษตรกรดี ถึงแม้ว่าปริมาณการผลิตภายในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังประสบกับปัญหาผลผลิตมีคุณภาพต่ำเนื่องจากการผลิตและการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกต้องและพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกหลักอยู่ในเขตอุทยานต้นน้ำชั้นที่หนึ่ง ไม่สามารถขยายพื้นผลิตที่ได้

นายธนากร ให้ข้อมูลอีกว่า สถานการณ์ในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการสูง โดยในปี 2561ต้องนำเข้า762 ตัน/ปีคิดเป็นเงิน 154,399,344 บาทแต่ประเทศไทยสามารถส่งออกเพียง 19 ตันในปี 2561 คิดเป็นเงิน 763,607บาทขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด

นายธนากร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อำเภอพบพระมีพื้นที่ปลูกอะโวคาโดให้ผลผลิตแล้วประมาณ 1,369  ไร่ สามารถผลิตอะโวคาโดได้ประมาณ 800 – 1,200 ตันต่อปีคิดเป็น มูลค่า 12 – 18 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นพันธุ์ดีจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว

“ทีมบูรณาการโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อผลิตอะโวคาโดแบบครบวงจร อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีเป้าหมายให้สมาชิกปรับเปลี่ยนจากพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี ซึ่งส่งผลให้เพิ่มพื้นที่พันธุ์ดีเป็น 426 ไร่ ประมาณการผลผลิต 20 ตัน มูลค่า 7 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพการผลิตและสามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้” นายธนากร กล่าว

ถ่ายภาพร่วมกันระหว่างผู้มาเยือนและเจ้าของสวนอะโวคาโด
ถ่ายภาพร่วมกันระหว่างผู้มาเยือนและเจ้าของสวนอะโวคาโด

สำหรับสายพันธุ์อะโวคาโดที่แนะนำให้ปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ นายธนากร บอกว่าจากการศึกษาของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตากพบว่า มีสายพันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccaneer) ปีเตอร์สัน (Peterson) รูเฮิลร์ (Ruehle) บูท 7 (Booth7) พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) แฮสส์ (Hass) และปากช่อง 28 (Parkchong28)

ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ไพเราะได้กล่าวเสริมในเรื่องของตลาดรองรับผลผลิตว่า ถ้าต้นอะโวกาโดติดผลแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ ส่วนจะได้ราคาขายเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่ขนาดของผลและความสวย ซึ่งราคาที่ขายได้นั้นมีตั้งแต่ 25 บาทขึ้นถึง 40 บาทต่อกิโลกรัม

“ต้องมาดูครับ ช่วงผลผลิตพร้อมให้เก็บเกี่ยว วันหนึ่งมีรถพ่อค้าแม่ค้ามาจอดถามซื้อวันหนึ่งไม่รู้กี่คัน เรารอจดน้ำหนักกับรับเงินเพียงอย่างเดียว พ่อค้าเขามาสอยมาเก็บผลเองเลย เราไม่ต้องทำอะไร ผมเองยังเคยคิดเลยว่าตลาดอะโวกาโดจะดีขนาดนี้” ผู้ใหญ่ไพเราะ กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated