คึกคักจริง ๆ กับการแถลงข่าวของกรมป่าไม้ในวันนี้ (4 มีนาคม 2562) เมื่อ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมนางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายธีรยุทธ สมตน ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ (ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการบนเวทีแถลงข่าว) และ ผศ.วีระภาส คุณรัตนสิริ หัวหน้าโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ร่วมแถลงข่าว บอกว่าปี 2561 มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ไร่ แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ เช่น แม่ฮ่องสอน ป่าไม้กลับถูกรุกรานมากขึ้น อธิบดีกรมป่าไม้เผยความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำให้เขาหัวโล้นค่อยๆหมดไปภายใน 5 ปี

ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากแถลงข่าวจบลง
ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากแถลงข่าวจบลง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้จัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี 2559 – 2560 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102,156,350.51 ไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ จึงทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ และรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้ปี 2580 ต้องมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ ขณะเดียวกันกรมป่าไม้ยังดำเนินการทวงคืนผืนป่า ซึ่งคาดว่ามีนายทุนบุกรุกกว่า 2 ล้านไร่ และได้ทวงคืนมาแล้วกว่า 750,000 ไร่

อธิบดีกรมป่าไม้นำทีมแถลงข่าว
อธิบดีกรมป่าไม้นำทีมแถลงข่าว

ด้าน ผศ.วีระภาส คุณรัตนสิริ หัวหน้าโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพป่าไม้ที่แม่นยำ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมป่าไม้ ทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2556 – 2561 เพื่อสนับสนุนแนวทางการจัดการป่าไม้ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อการติดตามและการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังสามารถจำแนกเป็นชนิดป่าได้อีกด้วย อาทิ ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าพรุ ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าที่ฟื้นฟูตามธรรมชาติ สวนป่า เป็นต้น โดยใช้จุดตรวจสอบภาคสนาม 741 จุดกระจายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และพบว่าป่าเบญจพรรณ มีมากที่สุดถึงร้อยละ 14.59 ของชนิดป่าทั้งหมด

บรรยากาศแถลงข่าว
บรรยากาศแถลงข่าว

“ในปี 2560 -2561 เป็นครั้งแรกที่ได้นำข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 ที่มีความละเอียดจุดภาพ 10 เมตร มาใช้เป็นหลักในการจัดทำข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลภาพดาวเทียมที่มีความละเอียดมากที่สุดนับตั้งแต่มีการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมในภารกิจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย พบว่าภาพรวมของพื้นที่ป่าไม้ ในปี 2560 มีพื้นที่ป่า 102,156,350.51 ไร่ และล่าสุดในปี 2561 มีพื้นที่ป่า 102,488,302.19 ไร่ เท่ากับว่ามีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 331,951.67 ไร่ ถึงแม้ภาพรวมจะพบว่า มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่มีป่าไม้ลดลง จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการกำหนดนโยบายหาแนวทางจัดการต่อไป” หัวหน้าโครงการ กล่าว

(ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2556 – 2561 ขอให้ดูเพิ่มเติมจากการ LIVE สด https://web.facebook.com/kasetkaoklai/videos/413296266108480/)

“เขาหัวโล้นจะหมดภายใน 5 ปี” อธิบดีกรมป่าไม้ประกาศทางด้าน นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้สรุปประเด็นให้ฟังชัดๆเพิ่มเติมว่า พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนไร่ เทียบได้กับพื้นที่จ.ภูเก็ต ซึ่งนับว่าเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ยึดคืนพื้นที่ป่าจากนายทุน ซึ่งนอกจากจะทวงคืนผืนป่าแล้ว กรมป่าไม้ยังฟื้นฟูสภาพป่า และดำเนินการป่าชุมชนเพื่อให้ราษฎรช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าต่อไป ส่วนจังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้มี 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง และอยุธยา เนื่องจากมีแต่พื้นที่ชุมชน ซึ่งทางจังหวัดต้องหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ โดยตามคำนิยามว่าพื้นที่ป่าไม้ เพื่อให้ดาวเทียมสามารถจับข้อมูลได้ ต้องมีพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน 3.125 ไร่

ในตอนท้ายของการแถลงข่าวสื่อมวลชนถามว่า จ.น่าน มีหลายหน่วยงานเข้าไปแก้ปัญหาเขาหัวโล้น แต่ทำไมยังพบว่ามีพื้นที่ป่าลดลง ในเรื่องนี้ อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ตอบ กล่าวว่า พื้นที่ จ.น่าน มีประมาณ 4 ล้านไร่เศษ มีพื้นที่ป่าไม้ลดลง 4,799.53 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.1 เท่านั้น และ พบว่า มีพื้นที่ป่าลดลงบริเวณพื้นที่ตามชายขอบที่ติดกับเชียงรายหรือพื้นที่ใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตามกรมป่าไม้พยายามอย่างเต็มที่ในการหยุดยั้งการบุกรุกให้ได้ และที่ผ่านมากรมป่าไม้ใช้เทคโนโลยีแจ้งเตือนการบุกรุกป่าผ่านแอพพลิเคชั่น ได้รับการร้องเรียนกว่า 1,200 กว่าราย ซึ่งกรมป่าไม้ดำเนินคดีได้กว่า 300 คดี

“สถานการณ์เขาหัวโล้นเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ชาวบ้านเริ่มจัดโซนนิ่งกันเอง และไม่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น เพราะอยากให้กรมป่าไม้รับรองสิทธิทำกินอย่างถูกต้อง ชาวบ้านจึงไม่ทำผิดกฎหมาย เชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี ปัญหาเขาหัวโล้นจะค่อยๆ หมดไป และขณะนี้ได้จัดทำแบล็คลิสชุมชนที่บุกรุกป่า และก่อจุดความร้อน ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่าเพื่อดำเนินกฎหมายอย่างเด็ดขาด” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอย่างมั่นใจ“เขาหัวโล้นจะหมดภายใน 5 ปี” อธิบดีกรมป่าไม้ประกาศ

10 จังหวัดที่พื้นที่ป่าไม้บุกรุกมากที่สุด
  • ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน ลดลง 40,671.59 ไร่ พบลดลงมากใน อ.แม่ลาน้อย จ.กาญจนบุรี 25,499.01 ไร่ พบลดลงมากใน อ.ไทรโยค และ อ.ทองผาภูมิ จ.เชียงราย 16,445.66 ไร่ พบลดลงมากใน อ.เชียงของ จ.อุบลราชธานี ลดลง 13,115.78 ไร่ ยโสธร 10,736.47 ไร่ อำนาจเจริญ 8,630.89 ไร่ เชียงใหม่ 8,406.10 ไร่ น่าน 4,799.53 ไร่ มุกดาหาร 4,390.87 ไร่ และจ.ยะลา 2,309.09 ไร่
10 จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด
  • ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ เพิ่ม 62,394.96 ไร่ ชัยภูมิ 56,100.06 ไร่ พังงา 35,045.66 ไร่ นครราชสีมา 30,096.33 ไร่ พิษณุโลก 26,600.28 ไร่ ประจวบคีรีขันธ์ 23,655.14 ไร่ กระบี่ 19,565.90 ไร่ ขอนแก่น 18,751.20 ไร่ ลำปาง 14,877.03 ไร่ และจ.ลำพูน 13,505.30 ไร่
ภาคไหนมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด
  • ภาคเหนือ ร้อยละ 64.17 หรือ 38,533,429.40 ไร่
  • ภาคกลาง ร้อยละ 21.37 หรือ 12,163,869.66 ไร่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 15.03 หรือ 15,750,098.53 ไร่
  • ภาคตะวันออก ร้อยละ 21.93 หรือ 4,725162.36 ไร่
  • ภาคตะวันตก ร้อยละ 59.08 หรือ 20,108,513.54
  • ภาคใต้ ร้อยละ 24.28 หรือ 11,207,228.70 ไร่
จังหวัดไหนที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้
  • จากการศึกษาพบว่า มี 4 จังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้เลยได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

(ข้อมูล : กรมป่าไม้ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยป่าไม้ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated