อาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน ผู้สร้างสวนละออ การ์เด้น ยืนอยู่ในสวนยางและด้านหลังคือสวนปาล์ม...วันนี้ต้องพลิกกลับมาปลูกพืชแบบผสมผสานยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9

เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล

จากสนามบินแม่สอด จ.ตาก เราเดินทางต่อไปอีกประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 105 แม่สอด-แม่สะเรียง แป๊บเดียวเราก็ถึงจุดหมายปลายทาง ณ ที่นี่คือ “สวนละออ การ์เด้น” ตั้งอยู่เลขที่ 19 หมู่ 8 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก…พลันที่เดินทางไปถึงเราก็ได้รับการต้อนรับจากทีมงานบริหารคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่สวนแห่งนี้ดำเนินงานโดย บริษัท สวนละออ จำกัด มีคุณศิวะ คงตระกูลเทียน เป็นประธานกรรมการ และ อาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน ผู้เป็นพ่อรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสวน โดยที่อาจารย์มนตรีนั้น ยังมีตำแหน่งเป็นคณบดี คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จึงขอใช้สวนแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษา คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรอีกด้วย

ตรงบริเวณทางเข้าสวน...มุมขวามือจะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กลางแจ้ง
ตรงบริเวณทางเข้าสวน…มุมขวามือจะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กลางแจ้ง
ปลูกกล้วยในสวนปาล์ม
ปลูกกล้วยในสวนปาล์ม

อาจารย์มนตรีเล่าให้ฟังว่า สวนละออได้เริ่มดำเนินการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากเดิมมีพื้นที่ 15 ไร่ ก็ขยายมาเป็น 116 ไร่ ครั้งแรกนั้นได้เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะคิดว่ายังไม่มีเวลามาดูแลมากนัก จึงเลือกปลูกพืช 2 ชนิดนี้ แต่หลายปีมานี้ยางพาราราคาตกต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมันที่เริ่มราคาตกต่ำเช่นกัน จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสานยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3-4 สระ ตามจุดต่างๆ ของสวน และจัดสรรพื้นที่มาปลูกไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ข้าว และพืชผักชนิดต่าง ๆ

ปลูกพริกไทยซีลอนให้เลื้อยไปกับต้นยาง...แต่ต้องตัดแต่งกิ่งต้นยางให้เหลือแค่ 2-3 กิ่ง
ปลูกพริกไทยซีลอนให้เลื้อยไปกับต้นยาง ร่วมกับกาแฟอาราบิก้า…แต่ต้องตัดแต่งกิ่งต้นยางให้เหลือแค่ 2-3 กิ่ง
ปลูกทุเรียนในสวนยาง...เป็นโครงการทดลอง
ปลูกทุเรียนในสวนยาง…เป็นโครงการทดลอง

การปลูกไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ข้าว และพืชผักนั้น มี 2 รูปแบบ คือ ปลูกแซมในสวนยางพารา เช่น ปลูกพริกไทยซีลอนให้เลื้อยไปตามต้นยาง ปลูกทุเรียนแซมในร่องยาง ฯลฯ หรือปลูกแซมในสวนปาล์มน้ำมัน เช่น ปลูกกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 กล้วยหอม กล้วยไข่ มะละกอฮอลแลนด์ ฯลฯ กับอีกรูปแบบคือ ปลูกขึ้นมาในแปลงต่างหาก เช่น เมล่อน มะเขือเทศ ปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ ยังมีโรงเรือนดอกหน้าวัว โรงเรือนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ฯลฯ และที่โดดเด่นยังมีแปลงปลูกข้าว 5 สี

แปลงนา...ปลูกข้าว 5 สี
แปลงนา…ปลูกข้าว 5 สี
โรงหีบน้ำมันปาล์มตั้งอยู่ในสวนปลาล์มน้ำมัน
โรงหีบน้ำมันปาล์มตั้งอยู่ในสวนปาล์มน้ำมัน

ที่สำคัญพืชที่ปลูกทุกชนิดจะเตรียมตลาดไว้รองรับและแปรรูปเบื้องต้น ชนิดที่ว่าต้องใช้นวัตกรรมมารองรับให้สมกับที่เป็นคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรเลยทีเดียว เช่น ปาล์มน้ำมัน จะมีโรงหีบปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย หรืออย่างข้าวก็จะมีโรงสีอยู่ด้านหน้าสวนเป็นโรงสีข้าวชุมชนที่รับสีข้าวของเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย ส่วนพืชผักและผลไม้ชนิดอื่นๆ จะมีร้านค้าด้านหน้าสวน ที่เหลือจะแบ่งไปขายตามร้านค้าและตลาดนัดในชุมชน

โรงสีแม่ละออ...เพื่อสีข้าวจากนา และบริการสีข้าวให้กับชุมชนด้วย
โรงสีแม่ละออ…เพื่อสีข้าวจากนา และบริการสีข้าวให้กับชุมชนด้วย (ในภาพนี้ดยืนซ้ายคือ ลุงพร เกษตรก้าวไกล และยืนขวา คุณถวิล สุวรรณมณี นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย)

“แนวคิดใหม่ของเราคือการปลูกพืชผักแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวทางที่คิดว่ามีความเหมาะสมกับเกษตรไทย เราต้องยืนอยู่ให้ได้บนพื้นฐานของตนเอง นั่นหมายถึงว่าต้องมีรายรับจ่ายให้สามารถหมุนเวียนอยู่ได้ โดยจะมีร้านค้าหน้าสวน และมีเหลือจึงนำไปขายนอกชุมชน และเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูป อีกทั้งทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเชิงท่องเที่ยวครบวงจร เพื่อประโยชน์ของชุมชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งตอนนี้งานของเรากำลังคืบหน้าไปด้วยดี” อาจารย์มนตรี บอกถึงแนวคิดใหม่

ในโรงเรือนขนาดใหญ่มีเลี้ยงไส้เดือนด้วย
ในโรงเรือนขนาดใหญ่มีเลี้ยงไส้เดือนด้วย
เลี้ยงผึ้งชันโรงไว้ผสมเกสร
เลี้ยงผึ้งชันโรงไว้ผสมเกสร
เพาะเห็ดนางฟ้าในวงบ่อซีเมนต์
เพาะเห็ดนางฟ้าในวงบ่อซีเมนต์

การทำสวนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของสวนละออ นอกจากจะได้เรียนรู้ตามจุดหลักต่าง ๆ ที่เป็นแปลงปลูกพืชแล้ว ทางสวนได้ปลูกสร้างเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ เหมาะกับการทำกิจกรรมนอกสถานที่ ภายในโรงเรือนและรอบ ๆ โรงเรือนได้จัดโซนปลูกพืชและกิจกรรมไว้มากมาย ชนิดที่ว่าให้เรียนรู้ได้ไม่รู้เบื่อและทุกกิจกรรมจะเกื้อหนุนกัน เช่น มีเลี้ยงไส้เดือน และนำดินมาทำเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน มีเพาะเห็ดในวงบ่อซีเมนต์ มีเลี้ยงผึ้งชันโรงเอาไว้ผสมเกสร มีทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม มีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้งแบบหมุนเวียนน้ำมาใช้ใหม่ มีปลูกมัลเบอร์รี ปลูกเชอร์รี่ให้เก็บกินสดๆ ที่ใกล้กันนั้นยังมีอาคารหลังเล็กๆ เพื่อทำขนมเบเกอร์รี่ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะคุ้กกี้ข้าวไรท์เบอร์รี ข้าวทับทิมชุมแพ ฯลฯ ที่นำข้าวมาแปรรูปเป็นแป้งขนม และคุ้กกี้ที่นี่ยังผสมแป้งกล้วยจากสวนที่ทำขึ้นเอง

มุมหนึ่งของร้านค้าที่จำหน่ายผลิตผลจากสวน
มุมหนึ่งของร้านค้าที่จำหน่ายผลิตผลจากสวน
ห้องทำเบเกอร์รี่และคุ้กกี้...เป็นสถานที่เรียนรู้ไปในตัว
ห้องทำเบเกอร์รี่และคุ้กกี้…เป็นสถานที่เรียนรู้ไปในตัว

จุดไฮไลท์สำคัญของสวนละออ เน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น ระบบโรงเรือนปิดแบบอัจฉริยะ ที่ปลูกมะเขือเทศ เมล่อน แตงทิเบต ฯลฯ ควบคุมระบบการให้น้ำและปุ๋ยผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งมีการใช้โดรนเพื่อการเกษตรเอาไว้ฉีดพ่นศัตรูพืช ซึ่งเจ้าของสวนบอกว่าที่นี่เน้นเกษตรอินทรีย์ ทุกสิ่งที่ฉีดพ่นปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้พักอาศัย เฉพาะโดรนนั้นอนาคตตั้งใจว่าจะขยายไปให้บริการแก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกันอีกด้วย เพราะว่าช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน ลดเวลา และค่าปุ๋ยยาต่าง ๆ ได้ดีมาก

โรงเรือนปิด ระบบอัจฉริยะ...ปลูกเมล่อน แตงทิเบต มะเขือเทศ ฯลฯ
โรงเรือนปิด ระบบอัจฉริยะ…ปลูกเมล่อน แตงทิเบต มะเขือเทศ ฯลฯ
โดรนเพื่อการเกษตร ให้บริการโดยทีมงานคนรุ่นใหม่
โดรนเพื่อการเกษตร ให้บริการโดยทีมงานคนรุ่นใหม่

สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของสวนละออ คือผู้บริหารสวนทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาด้านเกษตรกรรมจากสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะยังเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาจากคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อย่างเช่นวันที่เรามาเยี่ยมชมนั้นมีฝึกงานอยู่จำนวนหนึ่ง

ผู้มาเยือนจากเมืองกรุง...ถูกขนาบด้วยทีมงานสวนละออ การ์เด้น
ผู้มาเยือนจากเมืองกรุง…ถูกขนาบด้วยทีมงานสวนละออ การ์เด้น
ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเชิงท่องเที่ยวครบวงจร
“ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเชิงท่องเที่ยวครบวงจรครับ”

ที่บอกเล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสวนละออ จำนวน 2 วัน 1 คืน ที่เรามาปักหลักอยู่นั้นขอบอกเลยว่ายังค้นหา(เก็บรายละเอียด)ได้ไม่หมด เพราะว่ามีเรื่องราวทางการเกษตรให้เรียนรู้มากมาย ที่นี่สามารถออกแบบหลักสูตรตามสั่งได้ และทุกหลักสูตรมี WorkShop ให้ลงมือทำจริง…ออ เกือบลืมบอกว่าที่สวนละออเขามีบ้านพักไว้รับรองทุกท่านในราคามิตรภาพ มีห้องประชุมที่มีทางเดินเชื่อมกับบ้านพัก มีอาหารการกินแบบพื้นบ้านที่ปรุงจากแม่ครัวมืออาชีพ ขอบอกว่าอร่อยมาก ๆ…สรุปว่าถ้ามาเรียนรู้เรื่องการเกษตร หรือแวะมาเที่ยวเชิงเกษตรไม่ผิดหวังเลยครับ

ห้องประชุม...(กำลังบรรยายแนวคิดของสวนละออ การ์เด้น)
ห้องประชุมของสวน…(กำลังบรรยายแนวคิดของสวนละออ การ์เด้น)
บ้านพักไว้ต้อนรับผู้มาเยือน
บ้านพักไว้ต้อนรับผู้มาเยือน

หมายเหตุ : ติดต่อสวนละออการ์เด้น โทร 064-4071482

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated