กรมวิชาการเกษตร รื้อพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ชูประโยชน์ให้เกษตรกรมากกว่าเดิม พร้อมให้ความคุ้มครองสิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์ ย้ำเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ไม่มีโทษ ยันพ.ร.บใหม่เพิ่มทางเลือก ให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและนักปรับปรุงพันธุ์ 

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชทางระบบอิเลคทรอนิกส์ (เว็บไซด์) จากทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หากแล้วแสร็จจะนำไปประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศอีกครั้ง

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ได้ยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก  โดยไม่ได้เสียผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น  รวมทั้งเกษตรกรยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษใดๆ ส่วนการขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น หมายถึง ขยายความคุ้มครองไปถึงเฉพาะ “ผลผลิต” หรือ “ผลิตภัณฑ์” ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบ เท่านั้นแต่หากส่วนขยายพันธุ์นั้นได้มาอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ผลิตก็มีสิทธิในผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น  ทั้งนี้เพื่อป้องกันเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีการปรับระยะเวลาคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิม พืชล้มลุก 12 ปี เป็น 20 ปี พืชไม้ผลไม้ยืนต้นจาก 17 เป็น 25 ปี และพืชให้เนื้อไม้จาก 27 เป็น 25 ปี นั้น   เนื่องจากในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ที่ดีมีศักยภาพออกสู่ตลาด จำเป็นต้องใช้ต้นทุนทั้งความคิด เวลา และงบประมาณ ซึ่งการปรับช่วงเวลาที่นักปรับปรุงพันธุ์จะได้ประโยชน์จากพันธุ์พืชไร่และพืชล้มลุก และพืชยืนต้น ดังกล่าวนั้นจะทำให้นักปรับปรุงพันธุ์มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและลงแรงในการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา รวมทั้ง เกษตรกร ประชาชนทั่วไป  นักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่และได้จดทะเบียนคุ้มครองก็จะได้รับผลประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการคุ้มครองนี้ด้วยเช่นกัน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้การปรับแก้ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชน จากการเลือกตั้งกันเอง เป็นแต่งตั้งทั้งหมดนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสามารถทำได้รวดเร็วขึ้นและมีความต่อเนื่อง ทำให้ดำเนินการได้ทันต่อเหตุการณ์ จึงปรับแก้ไขวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการ โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดิม

“การปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชในครั้งนี้เป็นการปรับมาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเกษตรกรยังสามารถใช้พันธุ์พืชดั้งเดิมและเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วไปได้ตามปกติ ขอย้ำว่าการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้เกษตรกรจะประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับสิทธิ์การคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกและให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและนักปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated