“ปลูกทุเรียนต้นคู่” ได้ผลผลิตเพิ่ม 30%-ธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรแห่งชาติปี 61 จัดให้
คุณธีรภัทร อุ่นใจ กับทุเรียนต้นคู่...สวนนี้เพิ่งปลูก มั่นใจว่าทุเรียนต้นคู่จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่ม 30%

สวนทุเรียนของคุณธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2561 สาขาอาชีพทำสวน ตั้งอยู่เลขที่ 3/6 หมู่ที่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 468-422 หรือ (098) 068-1971 จุดเริ่มต้นความสำเร็จในการปลูกทุเรียนมาจากความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ใช้หลักการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูก โดยการวางผังปลูก ที่คำนึงถึงทิศทางแสงแดด ทิศทางลม ความลาดชัน พื้นที่ลุ่มต่ำ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น การใช้เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งตัดแทนการใช้สารกำจัดวัชพืช การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าโรคเน่า โดยราดทางดินและฉีดพ่นทุก 3 เดือน การปลูกทุเรียนตามแนวลาดเอียง ขุดร่องเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า

ร่องสวนทุเรียนต้นคู่สวยงามมาก
ทุเรียนต้นคู่ที่ให้ผลผลิตแล้ว…ร่องสวนสวยงามมาก

จุดเด่นของสวนทุเรียน…

การปลูกทุเรียนต้นคู่ คือจุดเด่นของสวนที่มีความแตกต่าง ซึ่งจะปลูก 2 ต้น ต่อหลุม โดยได้ปลูกทุเรียนต้นคู่และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ประมาณ 2-3 ปี ในพื้นที่ประมาณ 22 ไร่

เกี่ยวกับที่มาของทุเรียนต้นคู่ มาจากแนวคิด “ปลูกเผื่อตาย” เนื่องจากทุเรียนอ่อนแอต่อโรค และสิ่งสำคัญเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมีลมแรงและไม้กันลมไม่สามารถต้านทานแรงลมได้เพียงพอ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แรงลมมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้มานอกจากลดความเสียหายจากแรงลมแล้ว ปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 30 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับการปลูกแบบต้นเดียว ซึ่งต้นทุนจะสูงขึ้นจากค่าต้นพันธุ์ทุเรียนเป็นหลัก

ในเรื่องของการปลูกทุเรียนต้นคู่หลายคนอาจกังวลว่าจะทำให้ต้นทุเรียนแย่งอาหารกันหรือไม่และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตหรือไม่ เรื่องนี้คุณธีรภัทรบอกว่า ไม่มีผลแต่อย่างใด ระบบรากในการดูดหาอาหารรากใครรากมัน จากที่ได้ผลผลิตมาแล้วระยะหนึ่งลูกสมบูรณ์ต้นไม่โทรม

ภูมิใจในความสำเร็จ
ภูมิใจในความสำเร็จ

หลักปฏิบัติและการจัดการ

การเตรียมดินหรือหลุมปลูก เป็นการปลูกทุเรียนแบบยกโคก โดยการยกโคกหลุมปลูกให้สูงจากพื้นดินปกติ ประมาณ 1.20 เซนติเมตร ความกว้างของหลุมปลูก ประมาณ 4-6 เมตร ซึ่งสวนทุเรียนยุคใหม่จะต้องปลูกทุเรียนแบบยกโคกเพื่อลดปัญหาการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน และเอื้อต่อการจัดการออกดอกติดผลและดูแลรักษา

การปลูก ใช้ระยะปลูก 12×12 เมตร ใน 1 หลุม ปลูก 2 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนประมาณ 32 ต้น (16ต้น คูณ 2=32 ต้น) (กรณีปลูกต้นเดี่ยว 1 ไร่ ได้ 20-25 ต้น) การวางแนวปลูกให้วางแนวทิศตะวันออกและตะวันตก (ตามตะวัน)

หลังเก็บเกี่ยว จะตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ให้แสงแดดส่องถึงใต้ต้นทุเรียน และตัดกิ่งที่ห้อยชี้ลงดินทิ้งในรอบฤดูกาลให้ทุเรียนแตกใบอ่อนอย่างน้อย 2-3 ชุด พร้อมให้อาหารทางใบเสริมเพื่อสะสมอาหารใบอ่อนชุดที่ 3 ระยะเพสลาด ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นการออกดอกให้สม่ำเสมอ อัตรา 1,000 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร

การให้น้ำ เน้นให้ถูกต้องตามระยะการพัฒนาของทุเรียน ข้อควรระวังระยะแทงตาดอก ควรให้น้ำภายในทรงพุ่ม ถ้าให้รอบปลายทรงพุ่ม ดอกจะเปลี่ยนเป็นใบอ่อนแทน ระยะดอกบานควรให้น้ำน้อยลง เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน

การบำรุงต้น/ดอก/ผล ใส่ปุ๋ย ประมาณเดือนครึ่ง/ครั้ง โดยใส่ควบคู่และสลับกันไป ระหว่างปุ๋ยทางดิน ทางใบ และธาตุอาหารเสริมให้เพียงพอ

การจัดการวัชพืชในสวนทุเรียน ทุเรียนอ่อนแอต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะมีระบบรากตื้น จึงเน้นปล่อยให้หญ้าคลุมแปลงทุเรียน โดยเน้นที่ : หน้าแล้งปล่อยให้หญ้ารก หน้าฝนให้หญ้าเตียน

ผลตอบแทนและรายได้ ต้นทุน เฉลี่ย 10-11 บาท ต่อกิโลกรัม หรือ 18,000-20,000 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่ายกโคก และค่ากิ่งพันธุ์) ผลผลิต เฉลี่ย 1,800-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ รายได้ ประมาณ 63,000-67,500 บาท ต่อไร่ (ราคาขาย เฉลี่ย 45 บาท ต่อกิโลกรัม/เป็นราคาเมื่อปี 2560)

อยากศึกษาดูงานเชิญได้ (ตามป้ายเลยครับ)
อยากศึกษาดูงานเชิญได้ (ตามป้ายเลยครับ)

นอกจากนี้การจัดการสวนทุเรียนให้ประสบความสำเร็จ จะต้องจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพ ดูว่าขาดทุนกำไรอยู่ตรงไหน มีรายจ่ายในเรื่องอะไรบ้าง หลังขายผลผลิตแล้วเราจะต้องมาดูต้นทุน ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง จะต้องใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ และอีกปัจจัยที่จะต้องคือองค์ความรู้เรื่องโรคแมลง เพราะทุเรียนอ่อนแอต่อโรค สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และปัจจัยหลักคือแหล่งน้ำจำเป็นมาก ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติก็ต้องขุดสระประจำสวน หน้าแล้งต้องดูเรื่องน้ำ ส่วนหน้าฝนจะต้องดูเรื่องโรค

อยากประสบความสำเร็จเช่นคุณธีรภัทร อุ่นใจ ต้องศึกษาเรียนรู้และกล้าที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเป้าหมายที่ดีกว่า…อย่างยั่งยืน

ทีมงาน เกษตรก้าวไกล ภูมิใจที่ได้พบกับเกษตรกรคนนี้...ธีรภัทร อุ่นใจ
ทีมงาน เกษตรก้าวไกล ภูมิใจที่ได้พบกับเกษตรกรคนนี้…ธีรภัทร อุ่นใจ (ภาพนี้ล่าสุดที่หน้าบ้านเลยครับ)
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated